“หลอดเลือดแดงใหญ่” เป็นหลอดเลือดแดงหลักที่ลำเลียงเลือดจากหัวใจไปสู่อวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยความผิดปกติที่มักเกิดขึ้นกับส่วนนี้ คือ การขยายตัวของหลอดเลือดจนกลายเป็นถุงขังเลือดไว้
เมื่อหลอดเลือดมีสภาวะโป่งพองมากขึ้น จึงเสี่ยงที่หลอดเลือดจะแตกออก เรียกว่า…
เส้นเลือดแดงโป่งพองแตกเซาะ
ข้อมูลจาก นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิชรองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ ระบุว่า เส้นเลือดแดงโป่งพองแตกเซาะถือเป็นภาวะที่ต้องรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ผู้ป่วยบางรายอาจเสียชีวิตที่บ้านหรือเสียชีวิตในขณะเดินทางมาโรงพยาบาลรวมถึงในบางครั้งอาจได้รับการวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคอื่นทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ทำไมถึงเกิดขึ้น?
เกิดจากการปริแตกของเส้นเลือดหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ภาวะกดเบียดของนํ้าหรือเลือดในช่องเยื่อหุ้มหัวใจภาวะที่อวัยวะต่างๆ ขาดเลือดไปเลี้ยงซึ่งเป็นผลจากการแตกเซาะการฉีกขาดของผนังด้านในของเส้นเลือดแดงใหญ่บางส่วน ทำให้เลือดไหลเซาะเข้าไปในผนังของเส้นเลือด
พบได้ในใครบ้าง?
ภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่แตกเซาะพบในผู้ป่วยที่มีอายุเฉลี่ย 50 ถึง 60 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลงโดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ นํ้าหนักเกิน และพันธุกรรม
ด้าน แพทย์หญิงวิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า
ผู้ป่วยเส้นเลือดแดงใหญ่แตกเซาะ จะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกอย่างรุนแรงทันทีเหนื่อย หายใจไม่ทัน บางรายอาจมีอาการปวดหลังหรือปวดท้องขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเส้นเลือดที่มีการแตกเซาะ นอกจากนี้อาจหมดสติหรือมีภาวะเส้นเลือดหัวใจขาดเลือด
สำหรับแนวทางการวินิจฉัยที่ดีและแม่นยำที่สุด คือ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ซึ่งต่างจากการเอกซเรย์ปอดทั่วไป เพื่อค้นหาตำแหน่งของเส้นเลือดที่มีการแตกเซาะรวมถึงภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การปริแตกหรือการแตกเซาะเข้าไปในเส้นเลือดของอวัยวะต่างๆ
ทั้งนี้ การรักษาเส้นเลือดแดงใหญ่แตกเซาะควรได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วโดยการผ่าตัด มิฉะนั้นผู้ป่วยอาจได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ