“มะเร็งท่อน้ำดี” เป็นมะเร็งตับชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุน้ำดีทั้งในและนอกตับพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ในประเทศไทย โรคนี้เป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยเชื่อว่าสาเหตุเกิดจากการรับประทานปลาน้ำจืดแบบดิบๆ ทำให้ได้รับตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับ
“มะเร็งท่อน้ำดี” (Intrahepatic cholangiocarcinoma/ ICCหรือ cholangiocarcinoma/ CCA) เป็นก้อนเนื้อร้ายที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังของท่อทางเดินน้ำดีซึ่งรวมถึงท่อน้ำดีภายในตับและท่อน้ำดีภายนอกตับโดยมะเร็งท่อน้ำดีสามารถแบ่งออกตามตำแหน่งของมะเร็งได้ 2 ชนิด คือ
- มะเร็งท่อน้ำดีภายในตับ เกิดจากเซลล์ของเยื่อบุท่อน้ำดีในตับและขยายออกสู่เนื้อตับข้างๆ ทำให้มีลักษณะคล้ายมะเร็งตับ จึงเป็นโรคที่มักถูกวินิจฉัยผิดว่าเป็นมะเร็งตับ
- มะเร็งท่อน้ำดีภายนอกตับ จะเกิดที่ท่อน้ำดีใหญ่ตั้งแต่ขั้วตับจนถึงท่อน้ำดีร่วมส่วนปลาย มะเร็งชนิดนี้ทำให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำดี ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง
แม้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี แต่พบปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีตับ ได้แก่…
- มีการอักเสบเรื้อรังของท่อน้ำดีในตับ เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง, โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง, โรคของระบบทางเดินน้ำดี, โรคไวรัสตับอักเสบ ซี, มีนิ่วในตับ
- โรคทางพันธุกรรม เช่น มีถุงน้ำผิดปกติในระบบทางเดินน้ำดี, การติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ (โดยเฉพาะคนในภาคอีสานจากอุปนิสัยการรับประทานปลาน้ำจืดมีเกล็ดแบบสุกๆ ดิบๆ เช่น ปลาร้าดิบ ก้อยปลา ส้มปลา ซึ่งพยาธิใบไม้ตับที่เข้าสู่ระบบทางเดินอาหารจะเข้าไปอาศัยอยู่ที่ท่อน้ำดี ทำให้เกิดการติดเชื้อของพยาธิใบไม้ตับในท่อน้ำดีและเกิดการอักเสบเรื้อรัง)
อาการที่พบได้บ่อยจากโรคมะเร็งท่อน้ำดี คือ แน่นอึดอัดท้องเนื่องจากตับโต (สามารถคลำหน้าท้องพบตับโตได้) เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย และเมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจะส่งผลให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำดีในตับ ส่งผลให้ตัว ตาเหลือง คันทั่วตัว ปัสสาวะสีเข็ม และอุจจาระสีซีดลง
และในระยะสุดท้ายของโรค มักมีน้ำมะเร็งในท้อง (ท้องมาน) ส่งผลให้อึดอัดท้อง หายใจลำบาก และเสียชีวิตในที่สุดฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกันตัวจากโรคมะเร็งท่อน้ำดี ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยง และรีบไปพบแพทย์หากสงสัยว่าอาจป่วยด้วยโรคดังกล่าว