แทบจะเป็นโรคติดตัวหนุ่มสาวยุคใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์เร่งรีบไปซะแล้ว สำหรับอาการ “ท้องอืด” หนึ่งในกลุ่มโรคระบบทางเดินอาหารที่มาพร้อมพฤติกรรมกินด่วนของคนเมืองในปัจจุบัน เรียกว่าชีวิตคนเมืองน้อยคนนักที่จะไม่เคยมีอาการท้องอืดเลย
คำถามที่ตามมาก็คือ หากเกิดอาการท้องอืดบ่อยๆ มันผิดปกติหรือไม่??
“ท้องอืด” (Abdominal bloating)
เป็นอาการที่รู้สึกแน่นอึดอัดในท้องเนื่องจากมีลมมากในกระเพาะอาหารและในลำไส้ บ่อยครั้งที่ขณะเกิดอาการจะรู้สึกท้องใหญ่ขึ้นด้วย
อาการท้องอืดสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและอัดแก๊สบางชนิด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ กินอาหารมากเกินไป กินอาหารที่ย่อยยาก กินอาหารที่สร้างแก๊สได้สูง รวมทั้งอาหารที่มีกากมากๆ อาหารรสจัด อาหารหมักดอง เกิดจากท้องผูก ภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส โรคกรดไหลย้อน โรคลำไส้แปรปรวน โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ หรือผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคเบาหวานบางชนิด ฯลฯ
“ท้องอืด” ดูเหมือนเป็นอาการธรรมดาทั่วไปซึ่งเกิดขึ้นกับใครก็ได้ แต่หากเป็นบ่อย เป็นนาน จนเข้าข่ายเป็นโรคท้องอืดเรื้อรัง นั่นหมายถึงการรับประทานยาก็ไม่มีผลทำให้หายได้อีกต่อไป
ปัญหาที่พบบ่อยในคนที่ท้องอืด คือ โรคกระเพาะ บางคนอาจเป็นโรคของทางเดินน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี นอกจากนี้บางครั้งอาการท้องอืดอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงได้ เช่น โรคมะเร็งรังไข่ หรือภาวะท้องมาน
เบื้องต้นหากมีอาการท้องอืด อาจใช้ยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ ยาขับลม ยาธาตุน้ำแดง รวมถึงกินอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย ส่วนการกินยาช่วยย่อย อาจช่วยลดอาการท้องอืดได้บ้าง แต่ถ้าต้องกินทุกวัน อาจจะทำให้โรคเป็นมากขึ้นได้ ทางที่ดีหากมีอาการดังนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง และทำการรักษา
- ในผู้มีอายุเกิน 40 ปี เพิ่งจะเริ่มมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ
- ในคนที่มีอาการท้องอืดร่วมกับมีน้ำหนักลด
- มีอาการซีด ถ่ายอุจจาระดำ
- อาเจียนติดต่อกัน หรือกลืนอาหารไม่ได้
- ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือมีก้อนในท้อง
- ปวดท้องมาก หรือท้องอืดแน่นท้องมาก
- การขับถ่ายอุจจาระเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็น เช่น อาการท้องผูกมากขึ้น จนต้องกินยาระบาย หรืออาการท้องผูกสลับท้องเดิน เป็นต้น