รู้จัก “ผื่นแพ้ยุง” ปัญหาผิวจากยุงกัด พร้อมวิธีรับมือ

0

ยุง เป็นแมลงที่พบได้ทั่วโลกโดยเฉพาะในเขตร้อนและเขตอบอุ่น รวมถึงประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น แม้จะระมัดระวังตัวแค่ไหน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ต้องเคยโดนยุงกัดมาบ้างไม่มากก็น้อย นำมาซึ่งตุ่มแดงที่ฝากไว้ที่ผิวพร้อมอาการคัน ซึ่งโดยทั่วไปใช้เวลาไม่นานรอยก็หายไป แต่สำหรับบางคนหลังยุงกัด อาจมีปัญหาผิวที่เรียกว่า “ผื่นแพ้ยุง”

ยุงที่กัดส่วนใหญ่ในบ้านเราคือ ยุงรำคาญ (Culex Mosquito) โดยเมื่อยุงกัดจะปล่อยน้ำลายเข้าไปในผิวหนัง มีการเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อน้ำลายยุง ซึ่งปฏิกิริยาจะมากหรือน้อยขึ้นกับแต่ละบุคคล ผิวหนังของคนส่วนใหญ่มักจะมีปฏิกิริยาเฉพาะที่ ลักษณะเป็นตุ่มนูนแดงขนาด 2-10 มม. คันเล็กน้อยแล้วจะค่อยๆ หายไปในเวลาไม่นาน 

กรณีที่ปฏิกิริยาเป็นมากและนาน เกิดจากปฏิกิริยาภูมิไวเกินของร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้ในน้ำลายยุง (ซึ่งเป็นสารโปรตีนที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้) เรียกว่า “ผื่นแพ้ยุง” ผื่นแพ้ยุงมักเกิดตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อถูกยุงกัดจะเกิดตุ่มนูน บวมแดงมากกว่าคนทั่วไป คันมาก มักเกิดหลังถูกยุงกัดภายในเวลาเป็นชั่วโมงและอยู่นานเป็นสัปดาห์ ตำแหน่งที่พบมักพบกระจัดกระจาย บริเวณแขน ขา ใบหน้า คอ บริเวณที่อยู่ในร่มผ้า 

บางรายมีตุ่มน้ำ จ้ำเลือด ชั้นไขมันใต้ผิวหนังอักเสบ ผู้ป่วยมักจะเกาจนเป็นรอยแผลตื้นๆ อาจมีเลือดซึม เวลาหายมักเป็นรอยดำหรือรอยขาวกลมๆ ที่ล้อมรอบวงสีดำตามแขนขาทั้ง 2 ข้าง หรืออาจกลายเป็นรอยดำตามตำแหน่งที่โดนกัด ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนอาจเกิดแผลลึก เมื่อหายจะกลายเป็นแผลเป็น ทำให้เกิดอาการผิวลาย (เช่น ขาลาย) ผิวหนังไม่สวยงาม รายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการทางระบบอื่นๆ ของร่างกายร่วมด้วย แต่พบน้อยมาก ปฏิกิริยาเหล่านี้มักจะลดลง หรือหายไปเมื่ออายุมากขึ้น

สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการแพ้ยุง ได้แก่ เด็กอายุ  2-10 ปี เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต่อยุงน้อย, ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน รวมถึงผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มียุงชุม

การรักษาและดูแลผิวเมื่อถูกยุงกัด

1. ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกยุงกัดด้วยน้ำและสบู่เพื่อกำจัดน้ำลายยุง ซับให้แห้ง หลังจากนั้นนำผ้าห่อถุงน้ำแข็งมาประคบไว้ประมาณ 10 นาที จะช่วยบรรเทาอาการคันและบวมได้

2. ใช้ยาทา เช่น การบูร หรือเมนทอล ทำให้รู้สึกเย็น สามารถลดอาการคันได้

3. ใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ โดยเลือกความเข้มข้นให้เหมาะสม (ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้) ทาระยะเวลาสั้นๆ หยุดทาเมื่ออาการดีขึ้น ร่วมกับรับประทานยาแก้แพ้ (Antihistamine) เพื่อลดอาการคัน ลดตุ่มบวมแดง และการอักเสบของผิว 

4. ไม่แกะเกาบริเวณผื่น ตัดเล็บให้สั้นเพื่อป้องกันกรณีที่เผลอเกาจะได้ไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนลงไปปนผื่นแพ้ยุง 

5. รอยดำหลังการอักเสบสามารถจางลงได้เองโดยใช้เวลาหลายเดือน อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่รวดเร็วกว่าอาจใช้ยาทาลดการสร้างเม็ดสี 

6. หลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดเป็นเวลานาน เพื่อลดการสร้างเม็ดสีเมลานิน รวมถึงทาครีมกันแดดเป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้รอยดำคล้ำมีสีเข้มมากขึ้น ร่วมกับการสครับผิว เพื่อขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว รวมไปถึงสิ่งสกปรกต่างๆ ที่ติดค้างอยู่ในรูขุมขน ช่วยให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวใหม่ ทำให้สภาพผิวเนียนเรียบขึ้น รอยดำจากยุงกัดดูจางลง

7. ถ้ามีอาการมาก เป็นผื่นแพ้อย่างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา จึงควรระวังไม่ให้ยุงกัดโดยการหลีกเลี่ยงแหล่งที่มียุงชุม, กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง, ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว, ติดมุ้งลวด นอนในมุ้ง รวมถึงใช้สารไล่ยุง เช่น DEET ตะไคร้หอม น้ำมันยูคาลิปตัส 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *