สิว เป็นเรื่องผิวๆ ที่พบได้ทั้งกับเพศหญิงและเพศชาย แต่มักเกิดในช่วงวัยรุ่น เนื่องจากร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนครั้งใหญ่ เมื่อฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงหรือไม่สมดุล ทำให้เกิดเป็นสิวได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสิวอักเสบ หรือสิวอุดตัน อย่างไรก็ตาม แม้อยู่ในวัยผู้สูงอายุแล้ว ก็ยังสามารถเกิดสิวได้ เรียกว่า สิวในผู้สูงอายุ
สิวในผู้สูงอายุ (Senile comedone) จะมีลักษณะเป็นตุ่มสีขาวเหลืองเล็กๆ หรือสีดำ เป็นลักษณะสิวอุดตันหัวปิด เห็นเป็นจุดสีดำเล็ก ๆ รวมตัวกัน หรือเป็นสิวหัวเปิดสีขาว โดยไม่ค่อยมีลักษณะการอักเสบ ซึ่งมักเกิดขึ้นบริเวณที่ถูกแสงแดดมากหรือโดนแดดสะสม เช่น ใต้ตา และโหนกแก้ม เกิดในวัยกลางคนถึงวัยผู้สูงอายุ การใช้ครีมกันแดด หลีกเลี่ยงแสงแดด เช่น กิจกรรมกลางแจ้งโดยเฉพาะในช่วงแดดจัดตอนกลางวัน หลีกเลี่ยงและหยุดการสูบบุหรี่ จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะนี้ได้
สิวในผู้สูงอายุ พบได้บ่อยในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และพบบ่อยในคนผิวขาวมากกว่าคนผิวดำ โดยพบประมาณ 6% ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 50 ปี แต่ก็สามารถพบในช่วงอายุอื่นได้เช่นกัน ในปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกการเกิดโรคที่ชัดเจน แต่ปัจจัยสนับสนุนที่เป็นไปได้ ได้แก่ การโดนแสงแดดสะสมเป็นระยะเวลานาน และการสูบบุหรี่จัด โดยเนื้อเยื่อบริเวณผิวหนังรอบๆ จะถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมจากแสงแดดหรือบุหรี่ ส่งผลให้รูขุมขนขยายออกกว้าง ต่อมไขมันเกิดการฝ่อตัว ร่วมกับมีการอุดตันของแบคทีเรีย เช่น Propionibacterium acnes, Corynebacterium acnes, Staphylococcus albus และยีสต์กลุ่ม Malassezia ฯลฯ รวมถึงเส้นขนเล็กๆ ในต่อมไขมัน และในรูขุมขน จึงทำให้มีลักษณะคล้ายสิวอุดตัน
การรักษาสิวในผู้สูงอายุ วิธีที่ดีที่สุด คือการใช้ยาร่วมกับวิธีการทางศัลยกรรม ได้แก่
1. การใช้ยาทา โดยทากรดวิตามินเอเพื่อละลายหัวสิว ซึ่งช่วยในเรื่องการผลัดเซลล์ผิวหนังที่ถูกทำลายจากแสงแดด และการใช้ครีมบำรุงให้ความชุ่มชื้นป้องกันผิวแห้งจากกรดวิตามินเอ
2. การรับประทานยา ในกลุ่มวิตามินเอ (Isotretinoin) ร่วมกับการทากรดวิตามินเอ พบว่าได้ผลดีแต่ควรพบแพทย์เพื่อตรวจการทำงานของตับและไขมันก่อนเริ่มรับประทานยา และระหว่างการรับประทานยา เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง คือ การทำงานของตับผิดปกติ และระดับไขมันในเลือดสูง
3. วิธีการทางศัลยกรรม ได้แก่ การกดสิว, การขูดออก, การตัดออกด้วยวิธีผ่าตัด, การทำเลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อเปิดชั้นผิวหนังด้านบน และตามด้วยการกดหัวสิวออก ซึ่งการรักษาจะได้ผลดีมากในคนผิวขาว
4. ไม่ควรบีบแกะสิว หรือเจาะสิวด้วยตนเอง เนื่องจากอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ เช่น สิวมีการอุดตันหรืออักเสบติดเชื้อมากยิ่งขึ้น มีโอกาสเกิดรอยแดงหรือรอยคล้ำหลังเป็นสิวมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสของการเกิดแผลเป็นได้
5. ล้างหน้าด้วยน้ำสะอาด และใช้สบู่อ่อนๆหรือคลีนเซอร์ วันละ 2 ครั้ง ไม่ควรล้างหน้าบ่อยจนเกินไป รวมถึงไม่ควรขัดถูบริเวณที่เป็นสิวด้วยความรุนแรง เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิว และ อาจกระตุ้นสิวให้เป็นมากขึ้น
6. อาการของโรคจะดีขึ้นหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและหลีกเลี่ยงปัจจัยการกระตุ้น
7. ป้องกันผิวจากแสงแดด โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด ใส่ถุงมือ หมวก เสื้อแขนยาว โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่สามารถป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตได้ ใช้ครีมกันแดดโดยเฉพาะชนิดที่ไม่มีน้ำมันเมื่อจำเป็นต้องออกแดด รวมถึงหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุ (หรือผู้ดูแล) ควรหมั่นตรวจสอบผิวหนังของตนเองสม่ำเสมอ หากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่น่าสงสัยหรือผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินัจฉัยและรักษา