นับถอยหลังอีกไม่กี่วันก็จะถึงเทศกาลกินเจหรือที่หลายแห่งเรียกกันว่าเทศกาลถือศีลกินผัก ซึ่งในปีนี้เริ่มระหว่างวันที่ 13-21 ตุลาคม เชื่อว่าเหล่าคนรักสุขภาพหลายคนอาจจะเคย “กินเจ” มาแล้ว (อาจจะกินเจในช่วงเทศกาลหรือกินในชีวิตประจำวันทั่วไป) และยังมีอีกหลายคนอาจจะตั้งใจว่าจะเริ่มกินเจในปีนี้ คำถามที่ตามมาก็คือ คุณรู้หลักการกินเจอย่างถูกวิธีแล้วหรือยัง??
5 ทริคการ “กินเจ” ให้ถูกวิธีและดีต่อสุขภาพ
- การกินเจกับกินมังสวิรัติ คือ การกินอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ ต่างกันตรงที่มังสวิรัติสามารถนำผักทุกชนิดมาประกอบอาหารได้ แต่อาหารเจ ต้องงดเว้นผักฉุน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม, หัวหอม, หลักเกียว (คล้ายหัวกระเทียม แต่เล็กกว่า), กุ้ยช่าย และใบยาสูบ เพราะเชื่อกันว่าผักเหล่านี้เป็นผักที่มีรสหนัก กลิ่นแรง มีพิษทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ในร่างกาย รวมถึงต้องงดการสูบบุหรี่และดื่มเหล้าด้วย
- อาหารเจมีพืชผักเป็นส่วนประกอบหลัก ทำให้ได้ประโยชน์จากใยอาหารทั้งชนิดละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ ช่วยลดการดูดซึมน้ำตาล ไขมัน และช่วยในการขับถ่าย ลดอาการท้องผูกและสารพิษตกค้างในลำไส้ อาจกล่าวได้ว่าการกินเจช่วยให้อวัยวะภายในทำงานน้อยลง สุขภาพกายโดยรวมจะดีขึ้น
- การล้างท้องก่อนกินเจ คือ เป็นการกินเจแต่กินก่อนวันจริงสักวันหรือสองวัน โดยส่วนมากจะกินเจล้างท้องก่อน 1 วัน ถือเป็นการกินเจให้ครบ 10 วัน
- ควรเคลียร์ตู้เย็นก่อนกินเจ หรือจัดระเบียบแยกอาหารให้เป็นสัดส่วน เพราะเราอาจจะเผลอไปหยิบผิดหยิบถูกเอาของไม่ใช่อาหารเจมากินได้
- ทริคในการกินเจให้สุขภาพดีควรยึดหลัก 4 ล. คือ 1.ล้าง (ล้างวัตถุดิบที่นำมาปรุงประกอบอาหารเจให้สะอาด) 2.ลด (ลดอาหารที่มีรสหวานจัด เค็มจัด ควรปรุงรสให้อ่อนเข้าไว้) 3.เลี่ยง (เลี่ยงอาหารเจที่มีแป้งมาก และเลี่ยงอาหารประเภทผัด ทอด เพราะมีไขมันสูง ทำให้น้ำหนักเกินได้ ฉะนั้นหากไม่รับประทานในรูปแบบของผักสด ก็ควรปรุงด้วยวิธีตุ๋น อบ นึ่ง ย่าง ยำ) 4.เลือก (เลือกอาหารที่มีถั่วหรือผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ โปรตีนเกษตร เพื่อให้ได้โปรตีน รวมถึงใส่ใจในวัตถุดิบเป็นพิเศษ เช่น ใช้ข้าวกล้องแทนข้าวขาว เน้นผักผลไม้ที่หลายชนิด หากทานผักให้ครบ 5 สีได้ก็จะยิ่งดี ส่วนผลไม้ควรเลือกที่รสหวานน้อย)