นักจิตวิทยาครอบครัวได้จำแนกรูปแบบความสัมพันธ์ของคู่สมรสออกเป็น 3 ประเภท คือ ความสัมพันธ์แบบฝ่ายหนึ่งพึ่งพิงฝ่ายหนึ่ง ความสัมพันธ์แบบไม่พึ่งกัน และความสัมพันธ์แบบพึ่งพิงกันและกัน
ความสัมพันธ์แบบฝ่ายหนึ่งพึ่งพิงฝ่ายหนึ่ง
เป็นสัมพันธภาพในรูปแบบที่ฝ่ายหนึ่งคอยพึ่งพาการสนับสนุนและการช่วยเหลือของอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ตลอดเวลา เข้าทำนอง “ฉันเป็นผู้รับส่วนเธอคือผู้ให้” ฝ่ายรับความช่วยเหลือไม่รู้สึกเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าของตนเอง และรู้สึกว่าตนเองต่ำต้อยกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้ต้องคอยพึ่งพิงอีกฝ่ายหนึ่งอยู่เสมอ ฝ่ายที่ให้การช่วยเหลือก็มักจะวางอำนาจ ควบคุม ไม่เห็นความสำคัญ และไม่รู้สึกว่าคู่สมรสเป็นหุ้นส่วนชีวิต
ความสัมพันธ์แบบนี้
มักจะสร้างปัญหาให้กับชีวิตคู่ เนื่องจากฝ่ายหนึ่งต้องตกเป็นเบี้ยล่างของอีกฝ่ายหนึ่ง และต้องยอมหวานอมขมกลืนกับความรู้สึกอึดอัดที่มีในชีวิตสมรสโดยไม่อาจปริปากพูดอะไรมา เพราะว่ายังต้องคอยพึ่งพิงเขาอยู่ ผู้หญิงคนหนึ่งเคยมาขอคำปรึกษาจากผม เธอเล่าถึงความขมขื่นที่มีต่อสามีที่บางครั้งด่าว่าเธอด้วยถ้อยคำหยาบคาย และบางครั้งถึงกับขับไล่ไสส่ง แต่เธอก็ต้องจำทน เพราะถ้าออกไปจากเขาแล้วก็ไม่มีทางไป จึงได้แต่อดทน น้อยใจ และขมขื่น
คู่สมรสประเภทนี้
จะไม่มีความสุขทั้งสองฝ่าย เพราะฝ่ายที่ต้องพึ่งพิงจะรู้สึกกลัว อึดอัดและคับข้องใจ ในขณะที่คนที่ถูกพึ่งพิงจะรู้สึกไม่ภูมิใจกับคู่สมรสของตนที่ไม่ได้เป็น “คู่หู” หรือรู้สึกว่าคู่สมรสของตนเองไม่ได้เติมเต็มชีวิตของเขาเลย บางทีถึงขั้นนำไปเปรียบเทียบกับคู่สมรสของคนอื่นก็มี บางคนรู้สึกว่าคู่สมรสเป็นภาระของเขาและเขารู้สึกเบื่อหน่าย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเลิกรากัน
ความสัมพันธ์แบบไม่พึ่งกัน ต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นในตนเอง เป็นตัวของตัวเอง
และไม่รู้สึกว่าจะต้องพึ่งพิงอีกฝ่ายหนึ่ง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือการมีคู่สมรสหรือไม่มีคู่สมรสไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือเลวลง สัมพันธภาพแบบนี้เป็นแบบต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างมีชีวิตของตนเอง จะเกี่ยวข้องกันเท่าที่จำเป็น ตัวอย่างของสามีภรรยาคู่หนึ่งที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ก็คือ ต่างคนต่างมีงานของตนเอง เงินที่หามาได้ก็ของใครของมัน ใครหามาได้เท่าไหร่ก็เป็นสิทธิของคนนั้น หลังจากได้จัดสรรตามความรับผิดชอบที่ได้ตกลงกันแล้ว เงินที่เหลือเป็นสิทธิของคนที่หามาได้ จะใช้จ่ายอย่างไรก็เป็นสิทธิของคนนั้น
ความสัมพันธ์แบบนี้
เป็นแบบที่เรียกว่า “ฉันก็เก่ง เธอก็แน่” แม้ความสัมพันธ์แบบนี้จะดีกว่าแบบแรกหน่อย แต่ยังเป็นความสัมพันธ์ที่จะสร้างปัญหาให้กับชีวิตคู่ได้ มันเป็นความสัมพันธ์แค่เชิงโครงสร้างหรือแบบทางการเท่านั้น (คือเป็นสามีภรรยากันในทางพฤตินัยและนิตินัย) แต่ขาดความรัก ความผูกพัน และการอุทิศตัวให้กัน คู่สมรสประเภทนี้มักไม่มีความโรแมนติก มีโลกส่วนตัว และที่แย่ที่สุดก็คือวันที่ลูก ๆ โตและแต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว ทั้งสองคนจะกลายเป็นคนแปลกหน้าซึ่งกันและกัน เพราะตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตร่วมกันไม่ค่อยได้พัฒนาความสัมพันธ์แบบ “คู่ชีวิต” หรือ “หุ้นส่วนชีวิต”
คู่สมรสประเภทนี้
มักขัดแย้งกันบ่อย ๆ บางครั้งทะเลาะกันอย่างรุนแรง เพราะไม่มีใครยอมใคร ต่างฝ่ายต่างถือว่าตนเองก็แน่เหมือนกัน
ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน เข้าทำนอง “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า”
สัมพันธภาพแบบนี้
เป็นสัมพันธภาพที่มีคุณภาพที่สุด เพราะเป็นสัมพันธภาพที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีความเชื่อมั่นในตนเองและเห็นคุณค่าของตนเอง แต่ขณะเดียวกันก็เห็นคุณค่าและความสำคัญของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งคู่อุทิศตัวต่อกันเพื่อร่วมกันสร้างครอบครัว ต่างฝ่ายต่างช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนาซึ่งกันและกัน ไม่มีใครมองว่าอีกฝ่ายหนึ่งด้อยกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ความสัมพันธ์จึงเป็นแบบต่างฝ่ายต่าง “พะวง” ซึ่งกันและกัน และต่างฝ่ายต่างรู้ถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองในครอบครัว
คู่สมรสประเภทนี้
มักจะอยู่ด้วยกันแบบเข้าอกเข้าใจและสามารถประคับประคองกันไปได้ตลอดรอดฝั่ง แม้ว่าจะมีเรื่องกระทบกระทั่งกันบ้าง
แล้วความสัมพันธ์ของคุณล่ะคะเป็นแบบไหน