จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องแปลกเลยค่ะ ที่ลูกน้อยในวัยนี้จะพูดอะไรเกินจริงไปบ้าง เพราะเด็กในวัยนี้มักจะช่างพูด ช่างจินตนาการ และอย่างแชร์เรื่องราวของตัวเองให้ผู้อื่นสนใจและชื่นชอบ แต่หากลูกเริ่มโอ้อวดจนเกินขอบเขตก็คงจะไม่น่ารักเท่าไหร่ในสายตาคนอื่น จะทำอย่างไรให้ลูกเป็นเด็กช่างพูดที่แสนน่ารัก มาดูวิธีกันค่ะ
สอนลูกตรงๆ
หากลูกมาคุยอวดกับคุณ หรืออาจจะออกแนวข่มคนอื่นด้วย เช่น วันนี้หนูระบายสีสวยที่สุดในห้องเลย เพื่อนไม่มีใครทำสวยซักคน ของหนูสวยที่สุด” พูดกับลูกว่า “หนูระบายสีสวยน่ะ ดีแล้วจ้ะ แต่หนูไม่ต้องว่าคนอื่นนะลูก ถ้าหนูพูดชมตัวเองแล้วว่าเพื่อนแบบนี้ เพื่อนจะเสียใจแล้วอีกหน่อยจะไม่อยากเล่นกับหนูนะ”
หรืออาจจะให้ลูกลองสังเกตด้วยตัวเอง เช่น “เวลาหนูพูดว่าเพื่อนระบายสีไม่สวย เพื่อนเสียใจมั้ยลูก แล้วถ้ามีใครว่าหนูระบายสีไม่สวย เขาทำสวยกว่า หนูจะเสียใจไหม เพราะฉะนั้นถ้าเราทำดีเราไม่ต้องอวดใครและไม่ต้องว่าใครถ้าเขาทำไม่ดีนะลูก
ยกตัวอย่างที่เหมาะสมให้เห็นภาพ
จากตัวอย่างในข้อ 1 คุณอาจใช้วิธีแนะนำลูกว่าควรทำอย่างไรแทน เพื่อให้ลูกสามารถนำไปใช้ได้ เช่น “ถ้าหนูแบบนี้จะไม่น่ารักนะคะ เดี๋ยวเพื่อนเสียใจ หนูระบายสีเก่ง หนูก็ควรจะช่วยสอนเพื่อน บอกเพื่อนว่าทำยังไงถึงจะระบายสีสวยๆ ดีกว่านะลูก”
อย่าตำหนิให้เสียหน้า
เด็กก็เหมือนผู้ใหญ่ค่ะ รู้จักเสียหน้า หากลูกกำลังคุยโม้ใหญ่โตต่อหน้าคนอื่น แล้วมีคนพูดหักหน้าลูก คือคุณเอง แน่นอนว่าลูกคงหยุดโม้ทันที แต่นอกจากนั่นจะทำให้ลูกเสียหน้าแล้ว ยังทำให้ลูกขาดความมั่นใจไปเลย ซึ่งคงไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการ
อย่าต่อว่าให้เสียใจ
วิธีห้ามปรามไม่ให้ลูกทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่ควร ควรใช้คำพูดที่เป็นเหตุเป็นผล พูดกับลูกดีๆ ลูกก็พยายามจะทำความเข้าใจแน่นอนค่ะ แต่การใช้คำพูดทำร้ายความรู้สึกหรือรุนแรงเกินกว่าเหตุไม่ได้สร้างทัศนคติเชิงบวกให้กับลูกเลยนะคะ ในทางตรงข้ามกลับเป็นการสร้างรอยแผลให้กับความรู้สึกของลูกด้วย
ลูกในวัยนี้ยังเล็กเกินกว่าที่จะรู้จักปรับตัวหรือวางตัวให้เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่นี่แหละค่ะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยหล่อหลอมในลูกโตขึ้นมาเป็นคนที่มีคุณภาพค่ะ