เป็นข้อถกเถียงกันมานานพอสมควร สำหรับปริมาณไข่ที่ร่างกายสามารถรับได้ในแต่ละวันโดยไม่ต้องกังวลว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ หลายคนเคยได้รับข้อมูลทางโซเชียลที่มีใจความสำคัญว่า “สารคอเลสเตอรอลไม่ได้เป็นอันตรายต่อประชากรของสหรัฐ อเมริกาอีกต่อไป” จนนำไปสู่การตีความถึงขั้นว่าจากนี้ไปสามารถรับประทานไข่ได้มากถึงวันละ 5-6 ฟอง!!
“ไข่” จัดเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง และคุณภาพดีกว่าโปรตีนจากแหล่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อปลา เนื้อหมู ถั่ว แถมยังมีสารอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เช่น วิตามินดี วิตามินเอ แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินบี และธาตุเหล็กมาก ทั้งยังมี “เรซิติน” และ “โคลีน” ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเซลล์สมอง
อย่างไรก็ตามในไข่ก็มีคอเลสเตอรอลสูงด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้คนกลัวการรับประทานไข่ ทั้งๆ ที่เมื่อเทียบแล้วคุณประโยชน์ของไข่มีมากกว่า และที่สำคัญคือ “ไข่” ไม่ได้เป็นสาเหตุของปัญหาคอเลสเตอรอลเกินในคน โดยจากรายงานของประเทศสหรัฐอเมริกาอีกเหมือนกันที่พบว่าสาเหตุที่ทำให้คนเรามีภาวะคอเลสเตอรอลสูงนั้น เป็นเพราะ…
- เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
- รับประทานอาหารที่มีรสหวานมาก
- อาหารที่มีแป้งเยอะ คาร์โบไฮเดรตสูง
- รับประทานผักน้อย
- ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น
ส่วนในเรื่องที่บอกว่า สหรัฐฯ ตัดสารคอเลสเตอรอลออกจากสารที่พึงระมัดระวังในการบริโภคนั้นไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด เพราะในรายงานได้บอกไว้แค่ว่าคอเลสเตอรอลไม่ใช่สารที่ต้องจำกัดปริมาณการบริโภคอีกต่อไป
ซึ่งในรายงานฉบับก่อน ๆ ได้จำกัดปริมาณการบริโภคคอเลสเตอรอลอยู่ที่วันละไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน เนื่องจากไม่พบความสัมพันธ์กันระหว่างปริมาณคอเลสเตอรอลที่บริโภคเข้าไปกับปริมาณคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด แต่คำแนะนำนี้สงวนไว้เฉพาะผู้ที่มีสุขภาพดี เพราะผู้ที่มีปัญหาคอเลสเตอรอลสูงก็ยังคงต้องปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณคอเลสเตอรอลที่เหมาะสมอยู่ดี
ส่วนในเรื่องปริมาณการรับประทานไข่นั้น ที่มีการบอกว่าคนเราสามารถมากกว่าวันละ 1 ฟอง นั้นเป็นเรื่องจริงเพราะไข่ 1 ฟอง มีปริมาณคอเลสเตอรอล 186 มิลลิกรัม
แต่ที่เมื่อก่อนมีการแนะนำไม่ให้รับประทานเกินวันละ 1 ฟองก็เป็นเพราะว่าหากรับประทานเกินก็จะได้รับคอเลสเตอรอลมากกว่าวันละ 300 มิลลิกรัมนั้นเอง
แต่การที่บอกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี รับประทานไข่ได้วันละ 6 ฟอง และผู้ที่อายุมากกว่า 80 ปี รับประทานไข่ได้วันละ 2 ฟองนั้น จริงๆ แล้วไม่มีการระบุอยู่ในรายงานดังกล่าวแต่อย่างใด