กิจกรรมทางกาย มีความสำคัญอย่างไรกับเด็ก?

0

เราทราบกันดีว่า หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้มีสุขภาพที่ดี คือ การออกกำลังกาย ซึ่งหมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายซ้ำๆ ในรูปแบบที่มีการวางแผนที่ชัดเจนและจำเพาะ เพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางกายและสุขภาวะที่ดี แต่ที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ อีกรูปแบบของการเคลื่อนไหวร่างกายที่จำเป็นต่อการมีสุขภาพดีไม่แพ้กัน คือ กิจกรรมทางกาย 

กิจกรรมทางกาย (Physical Activity : PA) หมายถึง การใช้ร่างกายเคลื่อนไหว/ออกแรง ที่มีความหลากหลาย ไม่เฉพาะเจาะจงเพียงแค่การออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬา แต่ครอบคลุมไปถึงทุกกิจกรรมที่มีการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ของร่างกาย เช่น ขา หลัง ท้อง แขน และน่องเคลื่อนไหว ทั้งที่เป็นรูปแบบ เช่น เล่นฟุตบอล วอลเล่ย์บอล เต้นแอโรบิก และไม่เป็นรูปแบบ เช่น การวิ่งเล่น การเดินขึ้นบันได การกวาดบ้าน การรดน้ำต้นไม้ แล้วสามารถรับรู้ ได้ว่ามีการใช้งานมากกว่าขณะพัก สังเกตได้จาก หัวใจเต้นแรงขึ้น เหนื่อยขึ้นหรือเมื่อยขึ้น เป็นต้น

กิจกรรมทางกายเปรียบเสมือนวัคซีนป้องกันโรค มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพ 3 ประการ คือ 

1. ป้องกันการเกิดโรคและความเจ็บป่วย 

2. รักษาโรคและความเจ็บป่วย 

3. สร้างเสริมสุขภาพนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

การทำกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอจนเป็นวิถีชีวิต ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน มะเร็งลำไส้ใหญ่ ภาวะวิตกกังวล โรคอ้วน โรคเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บุคคลไร้ความสามารถและเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร คนที่ปฏิบัติกิจกรรมทางกายเป็นประจำจนเป็นวิถีชีวิต สามารถเอาชนะความเสี่ยงในการเกิดโรคที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ (พันธุกรรม) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และสามารถมีชีวิตอยู่อย่างปกติสุข ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่มีความเสี่ยงทางด้านพันธุกรรม แต่มีวิถีชีวิตที่เฉื่อยชา นั่งๆ นอนๆ เนือยนิ่ง และมีสมรรถภาพทางกายต่ำ มีโอกาสเป็นโรคเหล่านี้ได้ง่าย 

สำหรับวัยเด็ก นอกจากที่กล่าวมาแล้ว กิจกรรมทางกายยังช่วยพัฒนาสมอง พัฒนาการเรียนรู้ การจำ สมาธิ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สุขภาพ และคุณภาพชีวิต อีกด้วย ในปัจจุบันนิยมการฝึกทักษะกิจกรรมทางกาย แบบ HIIT (High Intensity Interval Training) เป็นการฝึกแบบหนักสลับเบา ความหนักสูงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเผาผลาญพลังงานด้วยเวลาสั้นๆ

สำหรับเด็กวัย 3-5 ปี เด็กวัยนี้จะเริ่มเคลื่อนไหวในท่าทางที่ยากมากขึ้น กิจกรรมทางกายสสำหรับเด็กวัยนี้ มีทั้งกิจกรรมการเล่นที่ใช้อุปกรณ์ และกิจกรรมการเล่นที่ไม่ใช้อุปกรณ์ สำหรับกิจกรรมการเล่นที่ใช้อุปกรณ์ เช่น เตะเลี้ยงลูกฟุตบอลไป-กลับ กระโดดเตะสิ่งของที่อยู่ข้างบน กระโดดเชือก ห้อยโหน ปั่นจักรยาน กระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง ส่วนกิจกรรมการเล่นที่ไม่ใช้อุปกรณ์ เช่น ว่ายน้ำ กระโดดขาเดียว เดินขึ้นที่สูง ขึ้น-ลงบันได วิ่งเปี้ยว วิ่งเก็บของ

การทำกิจกรรมทางกายนี้ นอกจากทำให้เหมาะสมตามช่วงวัยและสมรรถนะของร่างกายแล้ว หากปฏิบัติตามหลักการของ FIT คือ มีความถี่ (Frequency = F) มีความหนัก (Intensity = I) และมีระยะเวลานาน (Time or Duration = T) อย่างเพียงพอ จะส่งผลให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนทางสรีรวิทยาในทันที เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น เป็นต้น ในระยะยาวร่างกายจะมีการปรับตัวส่งผลต่อสุขภาพในด้านบวกเพิ่มขึ้น ทั้งช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือด สมบูรณ์แข็งแรงขึ้น โดยหัวใจ ปอด และหลอดเลือดทำงานได้ดีขึ้น 

นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความแข็งแรง ความอดทน และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ เพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก พัฒนาสมอง พัฒนาการเรียนรู้ การจำ สมาธิ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จในชีวิต ปรับปรุงท่าทาง ลดผลกระทบต่อความเสื่อม หรือความแก่ก่อนวัย ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ลดความเครียด ลดภาวะเหนื่อยล้า เพิ่มคุณภาพชีวิตทำให้มีอายุยืนยาว ลดระยะเวลาที่ไร้ความสามารถลงสุขภาพ และคุณภาพชีวิตอีกด้วย

ย้ำกันอีกครั้ง การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและเหมาะสมตลอดทั้งวัน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการมีสุขภาพที่ดี ในทางตรงข้าม การมีพฤติกรรมเนือยนิ่งติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *