ทำอย่างไรเมื่อผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า

0

ปัญหาที่รบกวนจิตใจผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องสัมพันธภาพในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นโดยเฉพาะคนในครอบครัวและสิ่งที่ผู้สูงอายุไวต่อความรู้สึกมากที่สุดคือการเสียหน้า การเสียคุณค่าและการเสียความเคารพจากผู้อื่น หนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ ความรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า 

ในวัยสูงอายุความเชื่อมั่นในตนเองลดลง ความภาคภูมิใจในตัวเองลดน้อยถอยลง บางรายต้องพึ่งพิงผู้อื่นเพราะปัญหาความเสื่อมถอยของสมรรถภาพร่างกายและสติปัญญา บางรายรู้สึกน้อยอกน้อยใจหรือซึมเศร้า ไม่สามารถสร้างกำลังใจเมื่อเกิดความรู้สึกน้อยอกน้อยใจได้ บางรายจู้จี้ขี้บ่นและรู้สึกสูญเสียภาพลักษณ์ต่อตนเอง

แนวทางการช่วยสร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองในผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม (เป็นกลุ่มที่ช่วยตัวเองได้ดี ไม่ค่อยมีปัญหาทางด้านจิตใจ)

1. ฝึกให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองในเรื่องง่าย เช่น กิจวัตรประจำวันงานบ้านเล็กๆน้อย หรือการดูแลเด็กๆ เพื่อไม่ให้รู้สึกเป็นภาระกับคนอื่น

2. ให้ผู้สูงอายุใกล้ชิดกับเพื่อนผู้สูงอายุคนอื่นๆ เพื่อฝึกให้เกิดการช่วยเหลือกันเอง เช่น การจัดกิจกรรมเยี่ยมบ้าน จิตอาสาในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำตนให้เป็นประโยชน์ และเสียสละเพื่อส่วนรวม (อาจเป็นแรงงานหรือทรัพย์หรือความรู้ก็ได้)

3. ฝึกให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือผู้อื่น เช่น การตั้งชมรมต่างๆ และชุมชนควรจัดเวทีให้ผู้สูงอายุได้แสดงความคิดเห็น หารือในประเด็นต่างๆ เพื่อกระตุ้นสมองป้องกันภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น

4. ฝึกให้ผู้สูงอายุเป็นผู้ให้การปรึกษา/วิทยากร/นักจัดรายการวิทยุชุมชน ฯลฯ ให้ท้องถิ่นเพื่อให้ผู้สูงอายุเกิดความภาคภูมิใจและเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน มีพลังในการดำเนินชีวิต และป้องกันภาวะซึมเศร้า

แนวทางการสร้างคุณค่าในตนเองในกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน (เป็นกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้บ้างหรือต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่นเพียงบางส่วน) 

1. หมั่นทักทาย พูดคุย เพื่อสร้างสัมพันธภาพ และให้กำลังใจ โดยปกติผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะรู้สึกดีใจที่มีคนมาเยี่ยม อยากพูดคุย อยากทักทาย อยากเล่าเรื่องต่างๆให้ผู้อื่นฟังอยู่แล้ว

2. ให้ถามความเห็นในเรื่องที่ผู้สูงอายุถนัด และให้เล่าเรื่องราวให้ฟังพร้อมฟังอย่างตั้งใจเพื่อให้ผู้สูงอายุเห็นว่าเรื่องที่เล่า มีคนสนใจ และสำคัญ

3. ให้ค้นหาศักยภาพ เพื่อประเมินความสามารถและส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ให้มากที่สุด และทำให้เกิดการทำกิจกรรมนั้นๆ เช่น อยากทำกิจกรรมดอกไม้ประดิษฐ์ควรจัดหาอุปกรณ์ให้ทำ

แนวทางการสร้างคุณค่าในตนเองในกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียง (เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้ รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิต)

ในกลุ่มนี้จะเน้นการเยี่ยมบ้าน ต้องเน้นการฟังและการให้กำลังใจเป็นหลัก

1. พยายามให้ผู้สูงอายุพูดคุยเพื่อเล่า ระบาย ความทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ พร้อมรับฟังอย่างตั้งใจ

2. ให้ผู้สูงอายุเล่าความภาคภูมิใจในอดีต เรื่องชื่นชม เรื่องราวของชุมชนในอดีต ฯลฯ ให้กำลังใจพร้อมกับค้นหาสิ่งที่ดีๆ ในเรื่องเล่านั้นๆ หากสงสัยว่าท่านมีปัญหาสุขภาพจิต ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและรักษา

ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางทางจิตใจอันเนื่องมาจากการสูญเสียสถานภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และต้องพึ่งพา

ผู้อื่นในการดำเนินชีวิตประจำวัน หากปรับตัวปรับใจไม่ทัน จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและอาจส่งผลต่อสุขภาพกายได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *