สมาชิกในครอบครัว ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนโควิด19-ไข้หวัดใหญ่

0

เมื่อกล่าวถึงโรคระบาดยอดฮิตในช่วงหน้าฝน เชื่อว่าต้องมีโรคโควิด 19 และโรคไข้หวัดใหญ่รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน นอกจากดูแลสุขภาพให้แข็งแรงแล้ว ตัวช่วยให้ห่างไกลโรคทั้งสอง คือ วัคซีน ซึ่งมีส่วนช่วยลดความรุนแรงของอาการจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ รวมถึงการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิต 

เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้ออกคำแนะนำแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด 19 และไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ปี 2567-2568 ซึ่งเป็นคำแนะนำสำหรับประชาชนในสหรัฐอเมริกา โดยแนะนำให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ควรรับวัคซีนโควิด 19 เพื่อลดความรุนแรงของอาการจากภาวะแทรกซ้อน และการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แนะนำให้กลุ่มเสี่ยง ดังนี้ 1. หญิงตั้งครรภ์  2. เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปซึ่งในปี 2567 – 2568 วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ คือ H1N1 H3N2 และ B/Victoria ทั้ง 2 วัคซีนสามารถฉีดได้ในครั้งเดียวกัน และมีความปลอดภัยช่วยลดความรุนแรงของอาการจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ รวมถึงการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิต

ทั้งนี้ ในปี 2566 ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่าประเทศสหรัฐอเมริกามีรายงานผู้ป่วยโควิด 19 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 916,300 ราย และมีผู้เสียชีวิต มากกว่า 75,500 ราย โดยในปีเดียวกันประเทศไทย มีรายงานผู้ป่วยโควิด 19 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 28,503 ราย และมีผู้เสียชีวิต 702 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป สาเหตุหลักจากลูกหลานพาเชื้อไปติดผู้สูงอายุที่บ้าน  สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 5 มิถุนายน 2567 พบผู้ป่วย 30,353 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี จำนวน 9,085 ราย มีผู้เสียชีวิต 36 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ

ผู้ที่มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หรือสงสัยป่วยไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด 19 ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ แยกตัว ไม่ใกล้ชิดกับผู้อื่นและรีบพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 เนื่องจากหากกลุ่มดังกล่าวติดเชื้ออาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยประเทศไทยได้มีคำแนะนำการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เป็นประจำทุกปี เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์การระบาดทุกปี เพื่อลดความรุนแรงของโรค และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนได้

สำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 

1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี)  

2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี  

3. ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน  

4. ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป  

5. ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)  

6. โรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมหรือมี ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) 

7. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 

บ้านไหนมีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว อย่าลืมพาไปเข้ารับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ได้ที่สถานพยาบาลของรัฐที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อลดความเสี่ยงในการป่วย 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *