ความจำ คือ ความสามารถของสมองในการนำเอาข้อมูลที่เคยถูกบันทึกไว้ในระยะเวลาหนึ่ง ดึงกลับมาใช้ในภายหลังได้ ซึ่งมีส่วนสำคัญให้เด็กนำประสบการณ์รวมถึงความรู้เดิมที่จำได้ มาต่อยอดสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ดังนั้น ส่งเสริมพัฒนาการด้านความจำตั้งแต่วัยทารก จึงถือเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก
รวมวิธีส่งเสริมพัฒนาการด้านความจำให้เบบี๋ (อายุ 0 – 3 ปี) ด้วยการพูดคุย
1. อุ้มเด็กให้หันหน้ามาทางพ่อแม่ สบสายตา ยิ้ม และพูดคุยกับเด็กบ่อยๆ อย่างสม่ำเสมอด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน โดยสาระของการพูดคุยอาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำอยู่กับเด็ก หรือความสนใจที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เด็กคุ้นกับภาษาที่ผู้พูดใช้กับเด็ก และเป็นการสร้างความคิดรวบยอดที่เกี่ยวกับสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวเด็ก หรือการกระทำของเด็ก ทั้งนี้เวลาพ่อแม่พูดคุยกับเด็กควรใช้ภาษาพูดชัดเจนและถูกต้อง ไม่ควรพูดในลักษณะที่พูดไม่ชัดกับเด็ก
2. สบตาเด็ก ยิ้ม พูดคุยกับเด็ก เมื่อเด็กส่งเสียงอ้อแอ้ ต้องคุยกับเด็ก โดยเว้นจังหวะให้เด็กได้โต้ตอบบ้าง แม้ว่าเด็กยังพูดไม่ได้ และภาษาที่ผู้ใหญ่พูดเด็กอาจยังไม่เข้าใจ
3. พูดคุย หรืออธิบายกับเด็กถึงสิ่งที่เด็กมองเห็นด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน และให้เด็กจับต้อง หรือ สัมผัสทางกาย/พื้นผิว หากสิ่งนั้นสะอาด และไม่เป็นอันตราย (เช่น ถ้วยน้ำ ขวดนม)
4. เมื่อเด็กส่งเสียงทักทาย หรือยิ้มให้ ให้พ่อแม่พูดคุยกับเด็กอย่างนุ่มนวล และควรพูดแสดงความรักด้วยการหมั่นบอกเด็กว่า “เป็นเด็กที่น่ารัก และพ่อแม่รักเด็กมาก” อย่าลืมที่จะสัมผัสเด็กอย่างอ่อนโยน เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกมั่นคงทางอารมณ์ และรู้ว่าพ่อแม่คือผู้ที่คอยโอบอุ้ม ดูแลและตอบสนองความต้องการของตน
5. เด็กกำลังสนุกกับการส่งเสียง เล่นพ่นน้ำลาย เพื่อพัฒนาต่อไปเป็นการทำเสียงพูดคุยโดยใช้ริมฝีปาก เด็กวัยนี้ยังไม่สามารถควบคุมน้ำลายที่ไหลย้อยได้ ให้ใช้ผ้าสะอาดและนุ่มเช็ดน้ำลายให้เด็ก และไม่ควรดุว่าเมื่อเด็กทำเลอะเทอะ
6. จัดหาของเล่น หรือให้เล่นของใกล้ตัวที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก และมีความหลากหลายทีละชนิด เช่น ช้อนพลาสติก ลูกบอลนิ่มๆ ฯลฯ ชวนให้เด็กสัมผัสผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 และพูดคุยกับเด็กถึงสิ่งที่เด็กได้สัมผัส
7. ชวนเด็กคุยบ่อยๆ เกี่ยวกับผู้คน สัตว์เลี้ยง และสภาพแวดล้อมอื่นๆ ในบ้าน เพื่อเด็กจะได้เรียนรู้ว่า ผู้คน สัตว์เลี้ยง หรือสภาพแวดล้อมที่รู้จักมีชื่อที่เรียกเฉพาะ (ถ้ามีสัตว์เลี้ยงในบ้าน ควรระวังเรื่องความปลอดภัย และความสะอาดของสัตว์)
8. พ่อแม่แสดงท่าทีว่ารับรู้ถึงสิ่งที่เด็กไม่ต้องการ แล้วปลอบโยนให้เด็กสงบ หรือให้เด็กห่างจากสิ่งที่เด็กปฏิเสธชั่วขณะ หากเด็กร้องไห้หงุดหงิด ควรตอบสนองด้วยการโอบกอด หรืออุ้มแล้วปลอบโยนพร้อมน้ำเสียงที่นุ่มนวลพร้อมกับสัมผัสเด็กเบาๆ หรือ เปลี่ยนบรรยากาศไปอีกมุมหนึ่ง เด็กจะสงบลง
9. เล่นสนุกกับเด็กด้วยการเคลื่อนไหวหน้าตา แลบลิ้น ทำปากจู๋ แล้วให้เด็กทำตาม เด็กจะสนุกสนาน และขบขันกับใบหน้าของผู้ใหญ่มาก การเล่นแบบนี้จะทำให้เด็กได้ฝึกการสังเกตและฝึกการบังคับ การขยับกล้ามเนื้อบนใบหน้า เด็กจะเรียนรู้ว่า แม้บางส่วนของหน้าจะเปลี่ยนไปแต่ยังเป็นผู้ใหญ่คนเดิมของเด็กนั่นเอง
10. ผู้ใหญ่ร้องเพลง หรือเปิดเพลงที่มีเนื้อเพลงเหมาะสมกับเด็กให้เด็กฟัง ชวนให้เด็กร้องและเคลื่อนไหวตามจังหวะร่วมกับผู้ใหญ่ ระยะแรก เด็กอาจร้องตามไม่ได้ แต่เด็กจะพยายามเลียนแบบการร้องเพลงของพ่อแม่ และพยายามร้องคลอตามไป เมื่อพ่อแม่ร้องซ้ำๆ เด็กจะคุ้นเคย และร้องตามได้ดีขึ้น ไม่นานนัก เด็กจะจดจำเนื้อร้อง และร้องเพลงนั้นได้ อาจไม่ทั้งเพลงหรืออาจเขินเมื่อร้องต่อหน้าคนอื่น พ่อแม่ควรให้กำลังใจ
เด็กในช่วง 5 ปีแรก พัฒนาการทางสมองกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่ง ความจำ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการต่อยอดการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อพัฒนาการทั้ง 4 ด้านของเด็ก ซึ่งได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา