เมื่อถึงเวลาเลิกเรียน เชื่อว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่ต้องมีอาการหิวแน่ๆ ดังนั้น จุดหมายปลายทางที่เจ้าตัวซนมุ่งไปคงหนีไม่พ้นหน้าโรงเรียนที่ขายอาหาร อาหารว่าง และขนมแบบละลานตา แต่สิ่งที่เด็กๆ รวมถึงพ่อแม่ ผู้ปกครองอาจไม่รู้คือ อาหารหน้าโรงเรียนอันตรายกว่าที่คิด เป็นภัยเงียบที่ทำลายสุขภาพและนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บได้
อาหารส่วนใหญ่ที่ขายหน้าโรงเรียน แบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้
1. อาหารประเภททอด เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก เกี๊ยว เฟรนซ์ฟรายส์ จะเสี่ยงอันตรายจากน้ำมันทอดซ้ำ มีไขมันสูง
2. อาหารปิ้งย่าง เช่น หมูปิ้ง ลูกชิ้นปิ้ง บาร์บีคิว จะเสี่ยงอันตรายจากกลุ่มควัน ที่มีสารพิษ PAH (Polycyclic Acomatic Hydrocarbon) หากสะสมในร่างกายในปริมาณมากจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
3. น้ำตาลปั้น ขนมหวาน เช่น ลูกชุบ ลูกกวาด ไอศกรีมแท่ง ผลไม้ดอง หากกินบ่อยๆ อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ฟันผุ
4. น้ำแข็งใส น้ำหวาน ที่มีสีสันสวยงามเสี่ยงอันตรายจากสีผสมอาหารและน้ำแข็ง ที่ไม่ได้มาตรฐาน
5. ขนมกรุบกรอบ มีของแถมดึงดูดใจ ส่วนใหญ่มีส่วนผสมแป้ง ไขมัน น้ำตาล และเกลือ ซึ่งแทบไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
อาหารเหล่านี้ ถือเป็นภัยเงียบที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม เพราะหากกินมากๆ และบ่อยๆ จะเกิดการสะสม ยิ่งถ้าเจ้าตัวซนขาดการออกกำลังกายจะยิ่งเสี่ยงโรคอ้วน โรคไต เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจได้
อาหารว่างที่เด็กๆ มักชอบรับประทานกัน เช่น ไส้กรอกทอด ขนมถุง ขนมซอง ช็อกโกแลต โดนัท เฟรนช์ฟรายส์ น้ำอัดลม และนมปรุงแต่ง ล้วนเป็นอาหารว่างที่ให้พลังงาน ไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กๆ เช่น น้ำหนักเกิน โรคอ้วน ฟันผุ และทำให้เด็กติดรสหวานได้ ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารว่างหน้าโรงเรียนที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แนะนำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง เตรียมอาหารว่างใส่กล่อง สำหรับลูกไปโรงเรียน
พ่อแม่ ผู้ปกครองควรใส่ใจกับขนมหรืออาหารว่างที่จัดให้กับเด็ก โดยเลือกขนมหรืออาหารว่างที่มีคุณค่า มีสารอาหารที่จำเป็น และจัดให้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากเกินไปจนทำให้เด็กน้ำหนักเกินหรือเด็กอิ่มจนไม่อยากกินอาหารมื้อหลักที่จำเป็นต่อร่างกาย จนทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารได้ โดยเด็กอายุ 2-15 ปี ควรได้รับอาหารมื้อหลักวันละ 3 มื้อ นมจืดวันละ 2-3 แก้ว และอาหารว่าง ซึ่งอาหารว่างควรรับประทานไม่เกินวันละ 2 มื้อ
อาหารว่างที่ดีควรจำกัดปริมาณน้ำมัน น้ำตาล และเกลือไม่ให้สูงเกินไป โดย 1 มื้อควรให้พลังงานเฉลี่ยไม่เกิน 100-150 กิโลแคลอรี โดยควรมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ โปรตีน ใยอาหาร วิตามิน แคลเซียม เหล็ก อย่างน้อย 2 ชนิด ตัวอย่างเช่น ผลไม้สด เช่น กล้วย ส้ม มะละกอ ฝรั่ง, ขนมไทยที่ทำจากธัญพืช ผัก ผลไม้ เช่น ขนมถั่วแปป ขนมกล้วย, อาหารว่างประเภทถั่ว พืชหัวและธัญพืช เช่น เผือกต้ม ข้าวโพดต้ม รวมถึงอาหารว่างชนิดอื่นๆ เช่น ซาลาเปา แซนวิชทูน่า
แต่หากวันไหนไม่สะดวกจัดขนมหรืออาหารว่าง จำเป็นที่ต้องให้ลูกซื้ออาหารหน้าโรงเรียน ควรสอนให้ลูกเลือกซื้ออาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานส่วนที่ไหม้เกรียม สังเกตผู้ปรุง ผู้จำหน่ายอาหาร ควรสวมผ้ากันเปื้อน และหมวกคลุมผม อาหารที่ขายต้องมีบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด และใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารแทนใช้มือสัมผัส เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ
การห้ามไม่ให้เด็กกินขนม เป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติ สิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองควรทำ คือ ฝึกนิสัยการกินที่ดีตั้งแต่ลูกเด็ก รวมถึงดูแลให้เจ้าตัวซนได้กินอาหารว่างหรือขนมที่ดี มีคุณค่า และปลอดภัย เพื่อเติบใหญ่ สมวัย และสุขภาพดี