คุณแม่ตั้งครรภ์กับการเปลี่ยนแปลงของมดลูก

0

มดลูก เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการตั้งครรภ์ มีลักษณะเป็นโพรงสามเหลี่ยมแบนๆ มีทางแยกเล็กๆ สามช่อง คือ ช่องไปยังช่องคลอด และอีกสองทางแยกตรงก้นมดลูกซ้ายและขวา หรือที่เรียกว่าปีกมดลูกนั่นเอง โดยในระยะตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายมากมายเกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งรวมถึงมดลูกด้วย

การเจริญเติบโตของมดลูก

ก่อนตั้งครรภ์มดลูกมีขนาดเล็กเท่าลูกแพร์ น้ำหนักประมาณ 50-70 กรัม และช่องว่างขนาด 10 ซีซี เมื่อปลายระยะตั้งครรภ์จะมีขนาด 800-1,200 กรัม และอยู่ระดับยอดอก ลักษณะเป็นรูปวงรี ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนทำให้มีการเจริญเติบโตของมดลูกในระยะที่ 1 ของการตั้งครรภ์ การโตขึ้นของมดลูกเกิดการเพิ่มขยายขนาดของเนื้อเยื่อและหนาตัวขึ้น โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 และ 3 จากการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจนและปัจจัยการเติบโต มีเนื้อเยื่อเจริญทั้งในและนอกกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่ยืดขยายทำให้กล้ามเนื้อมดลูกแข็งแรงขึ้นมาก ในปลายไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์กล้ามเนื้อมดลูกจะบาง ทำให้สามารถคลำทารกได้ชัดเจน สำหรับในระยะคลอดผนังมดลูกจะบางมากคือ 5-10 มม. 

แบบแผนการเจริญเติบโตของมดลูก 

การเจริญเติบโตของมดลูกเป็นแบบแผนและช่วยในการกำหนดอายุครรภ์ เมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์จะคลำมดลูกได้เหนือหัวเหน่า เมื่อ 16 สัปดาห์คลำมดลูกได้กึ่งกลางระหว่างหัวเหน่าและสะดือ เมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ยอดมดลูกจะอยู่ระดับสะดือ และระดับมดลูกจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยถ้าแบ่งจากระดับ จากระดับมดลูกถึงลิ้นปี่เป็น 4 ส่วน สามารถแบ่งได้ส่วนละ 4 สัปดาห์ เมื่ออายุครรภ์ 36 สัปดาห์จะอยู่ระดับลิ้นปี่ เมื่ออายุครรภ์ 38-40 สัปดาห์จะเกิดการลดต่ำของมดลูก เนื่องจากส่วนนำของทารกเคลื่อนลงต่ำเข้าสู่อุ้งเชิงกราน ปกติในหญิงตั้งครรภ์ครรภ์แรก จะเกิดท้องลดก่อนเจ็บครรภ์จริง ส่วนในครรภ์หลังจะเกิดเมื่อเข้าสู่ระยะคลอด 

การหดรัดตัวของมดลูก 

ตลอดการตั้งครรภ์มดลูกจะหดรัดตัวไม่สม่ำเสมอ เรียกว่า แบร็กตอนฮิก (Braxton Hicks contractions) เป็นการซ้อมการหดรัดตัวของมดลูก ไม่มีความปวด โดยในไตรมาสที่ 1 และ 2 จะมีการหดรัดตัวไม่บ่อย ส่วนในไตรมาสที่ 3 มีการหดรัดตัวของมดลูกบ่อยและอาจทาให้มารดารู้สึกไม่สุขสบาย ซึ่งบางครั้งอาจเข้าใจผิดว่าเป็นการเจ็บครรภ์จริง เรียกว่าเกิดการเจ็บครรภ์ที่ไม่จริง 

การไหลเวียนของเลือด 

ในช่วงต้นๆ ของการตั้งครรภ์ เลือดส่วนใหญ่จะมาเลี้ยงเยื่อบุโพรงมดลูกและกล้ามเนื้อมดลูก เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นเลือดจะมาเลี้ยงมดลูกและรกมากขึ้นเป็นปริมาณมาก 450-650 มล./นาที (10% ของ CO) ทำให้มีการแลกเปลี่ยนแก๊สและขับถ่ายของเสียที่รกดีขึ้น 

ปากมดลูก 

มีการเปลี่ยนแปลงสีและความยืดหยุ่นของปากมดลูก จากการที่เอสโตรเจนทำให้เลือดมาเลี้ยงปากมดลูกมากขึ้นทำให้ปากมดลูกมีสีม่วงน้ำเงินและขยายไปถึงช่องคลอด เรียกว่า เชดวิก (Chadwick’s sign) เนื้อเยื่อคอลลาเจนลดลงทำให้ปากมดลูกนุ่มคล้ายความนุ่มของติ่งหูเรียกว่ากูดเดล (Goodell’s sign) ต่อมที่ปากมดลูกเพิ่มมากขึ้นและมีการสร้างเยื่อเมือกปิดปากมดลูกเพื่อป้องกันแบคทีเรีย 

การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์เป็นเรื่องธรรมชาติที่คุณแม่ท้องต้องพร้อมรับมือ แต่หากสงสัยว่าเกิดความผิดปกติขึ้นอย่าปล่อยผ่าน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และเบบี๋ในท้อง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *