อาหาร เป็นอีกเรื่องสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรใส่ใจ เพราะสารอาหารที่คุณแม่ได้รับ จะส่งต่อไปยังเบบี๋ในครรภ์ คุณแม่ท้องควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารและวิตามินครบถ้วน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการทุกด้านของทารกในครรภ์ และนี่คือ 6 ประเภทอาหาร ที่มีความจำเป็นของคุณแม่ตั้งครรภ์
1. คาร์โบไฮเดรต เป็นแหล่งอาหารที่ให้พลังงานแก่สตรีตั้งครรภ์และทารก ซึ่งอาจอยู่ในรูปคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว หรือคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน สำหรับคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว พบในผักและผลไม้ ประกอบด้วยไดแซคคาไรด์ ได้แก่ แลคโตส ซูโคส มอลโตส และโมโมแซคคาไรด์ ได้แก่ กลูโคส ฟรุ๊กโตส และกาแลคโตส คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนพบใน ข้าว แป้ง พืชที่มีเส้นใย กลุ่มที่เป็นเส้นใยจะช่วยในการดูดซึมน้ำและการขับถ่าย กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ สำหรับสตรีตั้งครรภ์ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารประเภทแป้งเพิ่มขึ้น ควรรับประทานข้าวเป็นหลักวันละประมาณ 9 ทัพพี โดยเฉพาะข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือเพราะมีส่วนประกอบของ โปรตีน เกลือแร่ วิตามินบี เส้นใยอาหาร และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง
2. ไขมัน ให้รับประทานตามปกติ ไม่ควรเพิ่มปริมาณ เลือกไขมันจากพืช ซึ่งมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงน้อยกว่ากรดไขมันที่มาจากสัตว์ การรับประทานไขมันสำคัญสำหรับสตรีตั้งครรภ์และทารก เพราะร่างกายจะได้กรดไขมันที่จำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ได้ เช่น โอเมก้า 3 ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างระบบประสาท และพัฒนาการการมองเห็นของทารก
3. โปรตีน ขณะตั้งครรภ์ร่างกายต้องการโปรตีนเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างเนื้อเยื่อของมารดาและทารกในครรภ์ และเพิ่มปริมาณเลือดระหว่างตั้งครรภ์ ในคนภาวะปกติต้องการโปรตีนวันละ 55 กรัม ระหว่างตั้งครรภ์ต้องการโปรตีนเพิ่มขึ้น 76 กรัมต่อวัน สตรีควรรับประทานไข่วันละ 1-2 ฟอง นมวันละ 2 แก้ว และรับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ถั่วต่างๆ ธัญพืช ร่วมด้วย หากสตรีตั้งครรภ์แพ้โปรตีนจากสัตว์สามารถทดแทนโดยรับประทานโปรตีนจากพืชเช่นเต้าหู้หรือนมถั่วเหลือง
4. วิตามิน รับประทานวิตามินให้เพียงพอ วิตามินที่ละลายน้ำได้ ได้แก่ วิตามินเอ ดี อี และเค โดยจะถูกเก็บสะสมไว้ที่ตับ หากรับประทานมากเกินไปจะเป็นพิษต่อตับ วิตามินที่ละลายน้ำได้ เช่น วิตามินบี6 บี 12 กรดโฟลิค วิตามิน บี1 บี2 และ บี3 วิตามินดังกล่าวจะไม่ถูกเก็บสะสมไว้ในร่างกายเหมือนวิตามิที่ละลายในไขมัน ดังนั้นการรับประทานอาหารประจำวันควรคำนึงถึงวิตามินที่ละลายน้ำด้วยเพราะถ้าได้รับปริมาณที่มากเกินไปจะถูกขับออกทางปัสสาวะ จึงไม่เป็นอันตราย ส่วนกรดโฟลิค ช่วยป้องกันการเกิดความผิดปกติของท่อระบบประสาทของทารกแรกเกิดและป้องกันการเกิดภาวะปากแหว่งและเพดานโหว่ จึงควรได้รับวันละ 400 ไมโครกรัมในขณะตั้งครรภ์ สำหรับไอโอดีน สตรีตั้งครรภ์สามารถสูญเสียไอโอดีนทางไตมากขึ้น แต่โดยทั่วไปการรับประทานเกลืออนามัยที่มีไอโอดีนก็เพียงพอกับความต้องการขณะตั้งครรภ์
5. เกลือแร่ ร่างกายสตรีตั้งครรภ์มีความจำเป็นต้องนำมาใช้ในระหว่างตั้งครรภ์และสามารถพบได้ในอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ธาตุเหล็ก แคลเซียม โซเดียม สำหรับธาตุเหล็กนั้น ขณะตั้งครรภ์ร่างกายต้องการธาตุเหล็กประมาณ 1,000 มิลลิกรัมเพื่อใช้ในการสร้างเม็ดเลือดแดงของมารดา และเก็บสะสมไว้ในทารกโดยเก็บสะสมไว้ที่ตับเพื่อสร้างเม็ดเลือดแดงให้เพียงพอในระยะ 2-3 เดือนแรกหลังคลอด ส่วนแคลเซียม สตรีตั้งครรภ์ต้องการแคลเซียมวันละประมาณ 1,200 กรัม เพื่อช่วยในการสร้างกระดูก ฟัน การแข็งตัวของเลือด และการทำหน้าที่ของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ส่วนโซเดียม ความต้องการโซเดียมในขณะตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาตรเลือดและความต้องการของทารกในครรภ์
6. น้ำ ช่วยเพิ่มปริมาตรเลือด และเป็นส่วนประกอบในการเพิ่มเนื้อเยื่อของสตรีและทารกในครรภ์ สตรีในระยะตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำวันละ 240 มิลลิลิตร หรือประมาณ 8 แก้ว
ขณะตั้งครรภ์คุณแม่ต้องดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง โดยเฉพาะในเรื่องของโภชนาการ ต้องรับประทานอาหารให้ครบหมวดหมู่และมีสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วน เนื่องจากส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์