โรคหัดและไอกรน เป็นโรคติดต่อร้ายแรง แต่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

0

โรคหัดและไอกรน ได้ชื่อว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่สำหรับโรคไอกรนจะรุนแรงมากในวัยเด็กโดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก ที่น่ากลัวคือ เด็กที่ติดโรคหัดและไอกรน อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ อาจส่งผลให้สียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว

จากข้อมูลปี 2565 – 2566 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พบผู้ป่วยโรคหัด 23 ราย และโรคไอกรน 1 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากเด็กยังไม่ได้รับวัคซีนครบถ้วน แม้เด็กเหล่านี้จะได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว แต่ก็มีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ สถานการณ์โรคหัดในปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับอัตราการฉีดวัคซีนในเด็กเล็กลดลงเหลือ 86.4% จากเกณฑ์มาตรฐาน 95% อาจนำไปสู่การระบาดของโรคได้ และข้อมูลจากกรมควบคุมโรคปี 2566  พบว่า มีเด็กร้อยละ 57 ที่ได้รับวัคซีน 1 เข็ม และมีเพียงร้อยละ 15 ที่ได้รับครบ 2 เข็ม มีถึงร้อยละ 14 % ไม่แน่ใจว่าเคยได้รับหรือไม่

โรคหัด (Measles) ติดต่อได้ง่ายผ่านทางเดินหายใจ ด้วยการไอ จาม ในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา ไข้ ไอ น้ำมูก อาจพบตาแดงร่วมด้วย โดย 3–4 วัน หลังจากเริ่มมีไข้ อาจพบผื่นแดงขึ้นที่ใบหน้า จากนั้นลามไปแขนและขา โดยในผู้ป่วยบางรายสามารถพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ โดยมักพบผู้ป่วยในพื้นที่การเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคหัดทำได้ไม่ครอบคลุม

สำหรับ โรคไอกรน (Pertussis) เป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ ติดต่อง่ายจากการไอ จาม สัมผัสกับสารคัดหลั่งและเครื่องใช้ของผู้ป่วย ส่วนใหญ่เด็กจะติดเชื้อมาจากคนในครอบครัว เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิดที่ยังไม่ได้รับภูมิคุ้มกัน หรือในคนที่ไม่ได้รับภูมิคุ้มกันมาก่อน ในวัยผู้ใหญ่เมื่อติดเชื้อนี้แล้วอาจไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้

การป่วยด้วยโรคหัด และไอกรน อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว การรักษาจึงเน้นให้การดูแลรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ในกรณีของโรคหัดจะให้ยาต้านแบคทีเรีย ในกรณีของโรคไอกรน ให้ผู้ป่วยรักษาตัวในห้องแยกโรค เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น นอกจากนั้น ยังต้องมีการพิจารณาให้การป้องกันการแพร่กระจายด้วยการฉีดวัคซีน ในกลุ่มเด็กที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ โดยเฉพาะในผู้ที่สัมผัสโรค

วัคซีนป้องกันโรคหัด คือ วัคซีน Measles-Mumps-Rubella Vaccine (MMR) ซึ่งเป็นวัคซีนที่ป้องกันได้ทั้งโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน จากการศึกษาพบว่า หลังการให้วัคซีน 2 เข็มในเด็ก จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหัดจนถึงในเด็กวัยเรียนและผู้ใหญ่ สำหรับภูมิคุ้มกันต่อโรคคางทูม หลังได้รับเข็มที่ 2 จะมีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ร้อยละ 66-95 และสำหรับโรคหัดเยอรมันนั้น หลังได้รับวัคซีนเพียง 1 เข็ม จะมีภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต

ส่วนวัคซีนป้องกันโรคไอกรน คือ วัคซีนโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ Tdap หรือ TdaP ซึ่งเป็นวัคซีนที่ป้องกันได้ทั้งโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน Tdap เป็นวัคซีนมาตรฐานที่เด็กทุกคนจะต้องได้ฉีด แต่หลังจากที่ได้รับวัคซีนครบ 5 เข็ม เมื่ออายุครบ 10 ปี ภูมิคุ้มกันจะเริ่มลดน้อยลง จึงควรฉีดกระตุ้นอีกครั้งตั้งแต่อายุ 10-18 ปี โดยวัคซีนนี้ทำมาจากพิษของเชื้อคอตีบ เชื้อบาดทะยัก และส่วนประกอบของเชื้อไอกรน ซึ่งไม่ทำให้เกิดโรคในผู้ที่ได้รับวัคซีน

ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรพาบุตรหลานมารับวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนดอย่างครบถ้วน เพื่อลดอัตราความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กเล็ก ที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี  ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *