การใช้ยาในการรักษาโรคจะปลอดภัยหรือไม่นั้น ขึ้นกับว่าใช้ยาอย่างถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากยาแต่ละประเภทมีวิธีและขนาดการใช้งานที่แตกต่างกัน หากใช้ไม่ถูกต้องอาจจะส่งผลร้ายแรงได้ โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็ก ที่ร่างกายยังเติบโตไม่เต็มที่ ระบบภูมิต้านทานยังทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังกว่าปกติ
อันดับแรก เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน เมื่ออ่านเอกสารเกี่ยวกับยาของเด็ก ต้องเข้าใจคำศัพท์เกี่ยวกับช่วงวัยของเด็กอย่างถูกต้องก่อน เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดในการเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับเด็ก ดังนี้
1. เด็กแรกเกิด (New Born) หมายถึง เด็กแรกคลอดจนถึง 4 สัปดาห์
2. เด็กอ่อนหรือทารก (Infant) หมายถึง เด็กแรกคลอดจนถึง 1 ขวบ
3. เด็กเล็ก หมายถึง เด็ก 1 ขวบถึง 6 ขวบ
4. เด็กโต หมายถึง เด็ก 6 ขวบ ถึง 12 ขวบ (เด็กอายุ 12 ขวบขึ้นไป สามารถให้ยาได้เหมือนกับผู้ใหญ่)
ข้อควรพิจารณาเบื้องต้นสำหรับการใช้ยาในเด็ก ได้แก่
1. ไม่ควรใช้ยาโดยไม่จำเป็น หากหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยง เพราะโรคบางโรคที่ไม่รุนแรงสามารถปล่อยให้อาการทุเลาเองได้ เช่น ใช้วิธีเช็ดตัวเด็กแทนการให้ยาลดไข้ การเช็ดตัวเด็กด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ จะช่วยระบายความร้อนและลดไข้ได้ดีขึ้น
2. ควรเลือกยาที่มีความปลอดภัยสูง โดยพยายามเลือกยาที่คุ้นเคยหรือที่เคยใช้แล้วปลอดภัย พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดใหม่ๆ โดยไม่จำเป็น
3. ควรอ่านฉลากยาให้ถี่ถ้วนก่อนใช้ยาและสังเกตลักษณะของยาว่ามีลักษณะทางกายภาพเปลี่ยนแปลงจากที่เคยใช้หรือไม่ เนื่องจากแพทย์หรือเภสัชกรมักเลือกยาประเภทน้ำเชื่อมให้เด็ก ซึ่งยาประเภทดังกล่าวจะหมดอายุเร็วกว่ายาประเภทยาเม็ด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของยาอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กที่กินยานั้นได้
4. หากเด็กโตพอที่จะกินยาเม็ดได้ ให้เลือกใช้ยาเม็ดดีกว่ายาน้ำ เพราะนอกจากจะราคาถูกกว่าแล้วยังพกพาสะดวกและหมดอายุช้ากว่าด้วย สำหรับยาฉีดควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นจริงๆ โดยแพทย์เป็นผู้สั่งให้ฉีดยาและฉีดโดยแพทย์หรือพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากยาฉีดมีโอกาสแพ้แบบช็อค (Anaphylaxis) อย่างรุนแรงมากกว่ายาชนิดอื่น
ทำไมการให้ยาในเด็กจึงต้องมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่?
1. การดูดซึมยาเข้าร่างกาย เนื่องจากกระเพาะอาหารของเด็กมีสภาวะความเป็นกรดน้อยกว่าและการบีบตัวมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้การดูดซึมยาได้น้อยกว่าผู้ใหญ่
2. การเผาผลาญทำลายยาและการขับถ่ายยา เนื่องจากตับและระบบเอ็มไซม์ต่างๆของเด็ก ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้กระบวนการทำลายยาไม่ดีเท่าผู้ใหญ่
3. น้ำหนักตัว ส่วนสูง และพื้นที่ผิวของร่างกาย เนื่องจากปกติเด็กจะมีน้ำหนักตัว ส่วนสูง และ พื้นที่ผิวของร่างกายน้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้การให้ยาในเด็กจึงมีขนาดยาที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ด้วย โดยการคำนวณขนาดยาจากน้ำหนักตัวของเด็กเป็นหลัก เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและมีความแม่นยำสูง
ย้ำอีกครั้ง การใช้ยาในเด็ก โดยเฉพาะเบบี๋ต้องเพิ่มความระมัดระวังกว่าปกติ เพราะหากเกิดความผิดพลาดขึ้นแล้ว ผลเสียที่เกิดกับเด็กจะร้ายแรงกว่าที่เกิดกับผู้ใหญ่หลายเท่า