ปัญหาการกินของเด็กเล็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่พ่อแม่ต้องใช้การสังเกตพฤติกรรมอาการของลูก เนื่องจากเบบี๋ยังสื่อสารได้ไม่มากนัก พ่อแม่จึงควรมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพัฒนาการของลูกและปัญหาเกี่ยวกับการกินอาหารที่พบบ่อยในวัยแรกเกิด – 2 ปี เพื่อหาแนวทางในการดูแลและช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
ปัญหา 1 : อาเจียนและสำรอกนม
เบบี๋มักจะมีการสำรอกนมได้บ้างหลังกินนมประมาณ 1 ชม. เป็นนมที่ยังย่อยไม่เสร็จเป็นก้อนเล็กๆ ปนกับน้ำนมปริมาณไม่มาก ซึ่งไม่ใช่ภาวะผิดปกติ แต่ในทารกบางคนอาจมีการอาเจียนหลังกินนมทันที เนื่องจากนมล้นกระเพาะอาหาร
แนวทางการดูแลหรือช่วยเหลือเบื้องต้น :
• ควรให้ลูกดื่มนมให้เป็นเวลา
• หลังกินนมเสร็จ ควรจับลูกขึ้นพาดบ่าไล่ลมหรือจับนั่งบนตักแล้วลูบหลังเบาๆ สักพัก
• ถ้าคาดว่าสาเหตุมาจากแม่ป้อนนมในปริมาณที่มากจนเกินไป ให้ทดลองลดปริมาณนมลง
• สำหรับลูกที่กินนมผสม ลองเปลี่ยนสูตรนม
ปัญหา 2 : ท้องผูก
ไม่ถ่ายประมาณ 3 วัน ถ้าถ่ายอุจจาระ มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ต้องเบ่ง เบ่งนาน
แนวทางการดูแลหรือช่วยเหลือเบื้องต้น :
• ให้กินอาหารที่มีกากใยมากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ สำหรับลูกที่เริ่มอาหารเสริมแล้ว (อายุ 6 เดือนขึ้นไป)
• คั้นน้ำส้มผสมน้ำต้มสุกเล็กน้อยเพื่อเจือจาง ให้ลูกจิบ 1 – 2 ช้อนชา/ครั้ง
• ถ้าไม่ได้ผล ให้พบแพทย์
ปัญหา 3 : สิ่งของติดลำคอ หรือสำลักเศษอาหาร
เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เด็กหยิบของชิ้นเล็กเข้าปาก กลืนของเล่น, ระบบการเคี้ยว การกลืนของเด็กยังไม่สมบูรณ์ ฟันสำหรับบดเคี้ยวยังขึ้นไม่ครบ, รีบเคี้ยวเพราะห่วงเล่นทำให้อาหารที่มีชิ้นเล็กหรือใหญ่เกินไปค้างในลำคอขณะกินอาหาร
แนวทางการดูแลหรือช่วยเหลือเบื้องต้น :
• ระวังไม่ให้ลูกเล่นของชิ้นเล็กๆ เช่น กระดุม กิ๊บ เมล็ดถั่ว
• อาหารควรเป็นอาหารเคี้ยวง่ายชิ้นเล็ก
• สอนให้เด็กรู้จักการเคี้ยวให้ดี ไม่กระโดด หรือตะโกนพูดเมื่อมีอาหารอยู่ในปาก
• เมื่อลูกมีอาหารหรือสิ่งของติดคอให้ลูกไอแรงๆ หรือใช้สันมือตบระหว่างสะบักแรงๆ 4 – 5 ครั้ง
ปัญหา 4 : กินยาก ปฏิเสธอาหาร
แนวทางการดูแลหรือช่วยเหลือเบื้องต้น :
• งดขนม ของหวาน เครื่องดื่ม ก่อนกินอาหารอย่างน้อย 1.5 ชั่วโมง
• ปรับเปลี่ยนอาหารให้มีรสชาติหลากหลาย
• กินอาหารพร้อมๆ กันกับผู้ใหญ่และปล่อยให้ลูกได้ตักกินเอง
ปัญหา 5 : น้ำหนักเพิ่มจนควบคุมการกินยาก
มักเกิดจากกินนมและขนมหวานมาก วิ่งเล่นน้อย นั่งดูโทรทัศน์ มือถือ แท็บเล็ตพร้อมกินขนมไปด้วย
แนวทางการดูแลหรือช่วยเหลือเบื้องต้น :
• ลดอาหารที่มีไขมัน และงดการเติมน้ำมันในอาหารเสริมของลูก
• เพิ่มผักให้มากขึ้น
• งดน้ำหวาน และให้ดื่มน้ำเปล่าแทน
• ชักชวนลูกไปวิ่งเล่นนอกบ้านแทนการนั่งดูโทรทัศน์ มือถือ แท็บเล็ต
เนื่องจากเบบี๋ยังไม่สามารถบอกความต้องการของตนเองได้ แนะนำให้หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของเบบี๋ บ่อยครั้งที่พบว่าลูกรักร้องกวนงอแงจนผิดสังเกต หรือร้องไม่หยุด บ่ายเบี่ยง เมื่อป้อนนมหรืออาหาร บ้วนนม บ้วนอาหารทิ้ง เป็นต้น