ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญ เพราะถูกใช้งานอย่างหนักในทุก ๆ วัน ตั้งแต่ตื่นจนถึงเข้านอน รวมถึงมีความเสื่อมสภาพตามอายุ เหล่านี้อาจทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นกับดวงตาได้ อาทิ ตาพร่ามัว ปวดตา เพื่อให้หายจากโรคทางตา บางคนอาจใช้วิธีการรักษาที่ไม่ถูกต้อง ที่เห็นเป็นข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือ การตบไหล่เพื่อรักษาโรคตา
ตามที่มีกระแสข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์ออกมาว่าผู้สูงวัยท่านหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีอาการตามองไม่เห็นข้างหนึ่งและอีกข้างสายตาเลือนราง มีผู้ให้ความช่วยเหลือด้วยการรักษาตามวิธีทางความเชื่อส่วนบุคคลด้วยการตบไหล่ ทั้งนี้ การรักษาด้วยวิธีตามความเชื่อส่วนบุคคลอย่างเช่นวิธีการตบไหล่พลังจิตหรืออื่น ๆ ซึ่งไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าสามารถทำให้กลับมามองเห็นได้เหมือนปกติ ในทางตรงกันข้าม อาจจะส่งผลเสียอย่างอื่นตามมาได้ เช่น ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องไม่ทันการณ์ เป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้
หากสังเกตพบอาการที่ผิดปกติทางการมองเห็น อาทิ ตาพร่ามัว ปวดตา ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในอาการของโรคต้อกระจกหรือต้อหิน จุดดำลอยไปมาคล้ายแมลงหวี่บินผ่าน อาการฟ้าแล่บ เห็นเหมือนหยากไย่ เหล่านี้เป็นอาการของโรคทางจอตา ส่วนอาการตาแดง ตาแห้ง ระคายเคืองตาคันยุบยิบที่เปลือกตา อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคภูมิแพ้ขึ้นตา
เมื่อพบความผิดปกติทางดวงตา ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจทำให้อาการลุกลามมากขึ้น ควรพบจักษุแพทย์ที่ชำนาญการเพื่อการรักษาที่ถูกวิธีและปลอดภัย หากเราชะล่าใจต่ออาการต่าง ๆ เหล่านี้ที่เกิดขึ้น อาจทำให้อาการลุกลามรุนแรง ผลที่ตามมาอาจทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นถาวรได้ อย่างไรก็ตาม เราสามารถการเช็คตาง่าย ๆ โดยการปิดตาดูทีละข้าง หากตาสองข้างเห็นไม่เท่ากันหรือเปลี่ยนแปลงจากเดิมควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี
หากมีอาการผิดปกติทางตาให้รีบไปพบจักษุแพทย์ เพื่อทำการตรวจรักษาอย่างถูกวิธีและปลอดภัย ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ด้านจักษุมีความก้าวหน้า และเครื่องมือทางด้านจักษุมีความทันสมัยสามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ผู้ป่วยสามารถมั่นใจและไว้วางใจในจักษุแพทย์ได้ ดังนั้น การพบจักษุแพทย์เฉพาะทางย่อมทำให้ผลลัพธ์ที่ได้จากการรักษาเป็นผลที่ดี และเพื่อเป็นการป้องกันควรตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละครั้ง
ใครบ้างที่ควรตรวจสุขภาพตาประจำปี
• ผู้ที่มีภาวะสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจะผ่านการแก้ไขสายตาผิดปกติหรือไม่ก็ตาม ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
• ผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการเฝ้าระวังโรคทางตาที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคต้อหิน โรคต้อกระจก หรือโรคจอประสาทตาเสื่อม ฯลฯ
• ผู้ที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ควรตรวจสุขภาพตาอย่างน้อย 2 ปีต่อ 1 ครั้ง
• ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคทางตา
• ในเด็กเล็ก ควรตรวจก่อนเข้าโรงเรียน
ย้ำอีกครั้ง นอกจากรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา เมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติกับดวงตาแล้ว เพื่อให้ดวงตามีสุขภาพที่ดีอยู่กับเราไปอีกนาน แนะนำให้เข้ารับการตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์เป็นประจำ