ทารกในครรภ์สามารถรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัวได้ ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ และสภาพแวดล้อมที่ดี การที่แม่ท้องพยายามสร้างและรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อลูกในครรภ์ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมความรักความผูกพันระหว่างแม่ลูกแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์อีกด้วย โดยวิธีการกระตุ้นพัฒนาการมีหลายวิธี
1. อารมณ์ สตรีตั้งครรภ์ควรปรับอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอ ลดสิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดความเครียด สตรีตั้งครรภ์ที่อารมณ์ดีอยู่เสมอจะทำให้ร่างกายมีการหลั่งสารแห่งความสุขที่เรียกว่า เอ็นโดรฟิน ออกมาผ่านทางสายสะดือไปยังทารกในครรภ์ ทำให้ทารกมีพัฒนาการที่ดีทั้งสมอง (IQ) และอารมณ์ (EQ) ในทางตรงข้ามคุณแม่ที่มีอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย ร่างกายจะหลั่งสารแห่งความเครียดที่เรียกว่า อะดรีนาลีน ออกมา ทำให้ทารกเมื่อคลอดออกมา งอแง เลี้ยงยาก และมีพัฒนาการช้า
2. ระบบรับความรู้สึกและการเคลื่อนไหว เมื่อทารกในครรภ์อายุประมาณ 5 เดือนขึ้นไป ระบบประสาทการเคลื่อนไหวของทารกจะมีความพร้อมต่อการรับรู้การสัมผัสของมารดา
2.1 การลูบและสัมผัสทารกในครรภ์ผ่านทางผนังหน้าท้องนั้น จะพัฒนาเส้นใยประสาทของสมองส่วนรับความรู้สึก เพิ่มประสิทธิภาพและความไวในการรับรู้ของทารก ทำให้ทารกอารมณ์ดี ไม่ก้าวร้าว สร้างความรักใคร่ผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูก
2.2 การนั่งบนเก้าอี้โยกไปมานั้น นอกจากจะกระตุ้นเซลล์สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวแล้ว ยังทำให้ทารกในครรภ์ได้ปรับตัวเข้าหาสิ่งแวดล้อมได้ดี เพราะการโยกตัวอย่างเป็นระบบ จะทำให้ทารกรู้จักการต้านแรง ส่งผลให้มีการพัฒนากล้ามเนื้อ เกิดอารมณ์สงบกับการโยก ในระยะหลังคลอดเมื่อทารกร้องกวน ถ้าอุ้มนั่งบนเก้าอี้โยก ทารกจะสงบเร็วขึ้น อีกทั้งคุณแม่ยังรู้สึกผ่อนคลายอีกด้วย นอกจากนี้ การออกกาลังกาย การเคลื่อนไหวของมารดา เช่น ว่ายน้ำ เต้นรำ ท่าทางการเคลื่อนไหวที่นุ่มนวล ก็สามารถช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทางกายของทารกในครรภ์ได้เช่นกัน เมื่อคุณแม่ออกกำลังกาย ลูกในครรภ์จะมีการเคลื่อนไหวตามไปด้วย เป็นการกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสของทารกให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น
3. ระบบการได้ยิน เมื่อทารกในครรภ์อายุประมาณ 5 เดือนขึ้นไป ระบบการได้ยินจะพัฒนาเต็มที่ โดยรับรู้และตอบสนองต่อเสียงที่อยู่รอบตัวได้ คลื่นเสียงจะไปกระตุ้นให้ระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน มีการพัฒนาระบบการทำงานได้เร็วขึ้น จะช่วยให้ทารกที่คลอดออกมามีพัฒนาการด้านร่างกายและไอคิวสูง เพราะสามารถจัดลำดับความคิดในสมองและจดจาสิ่งต่าง ๆ ได้ดี นอกจากนี้ ยังช่วยให้ทารกมีอารมณ์แจ่มใส ไม่ร้องกวน และหลับง่ายขึ้น จึงมีการนำเอาเสียงภายนอกมาช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของทารกในครรภ์ ให้ทารกเคยชินต่อเสียง และเป็นการพัฒนาภาษาพร้อมกันไปด้วย ได้แก่
3.1 การใช้เสียงดนตรี เลือกเพลงบรรเลงเย็น ๆ หรืออาจจะเป็นเพลงที่มีความไพเราะและสตรีตั้งครรภ์ชอบ เปิดให้คุณแม่และทารกในครรภ์ฟังไปพร้อม ๆ กัน งานวิจัยพบว่าดนตรีส่งเสริมการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ การได้ยินเสียงมารดาและการสัมผัสทางหน้าท้องทำให้ทารกมีการตอบสนองโดยการเคลื่อนไหวของร่างกายมากขึ้น
3.2 เสียงพูดคุยของสตรีตั้งครรภ์ที่นุ่มนวล เสียงเล่านิทานของแม่ถือได้ว่าเป็นเสียงธรรมชาติและเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่จะช่วยเสริมสร้างคุณภาพของทารกในครรภ์ได้ เมื่อทารกคลอดออกมา จะช่วยให้ทารกจดจำเสียงนั้นได้และรู้สึกคุ้นเคย
4. ระบบการมองเห็น ทารกสามารถกระพริบตาเพื่อตอบสนองต่อแสงไฟที่มากระตุ้นได้ และรับรู้ผ่านการมองเห็นได้เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 7 เดือนขึ้นไป ลูกน้อยในครรภ์สามารถกระพริบตาเพื่อตอบสนองต่อแสงไฟที่กระตุ้นได้ การส่องไฟที่หน้าท้องเชื่อว่าจะทำให้เซลล์สมองและเส้นประสาทส่วนรับภาพและการมองเห็น มีพัฒนาการดีขึ้น และเตรียมพร้อมสำหรับการมองเห็นภายหลังคลอด โดยไม่จำเป็นต้องเล็งว่าแสงจะเข้าตรงกับนัยน์ตาของทารก
5. สมอง คืออวัยวะที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ การก่อตัวของสมองเริ่มตั้งแต่อายุครรภ์ 2 สัปดาห์ โดยเมื่อทารกในครรภ์อายุ 8 สัปดาห์ เซลล์ประสาทต่าง ๆ ในสมองก็เริ่มพัฒนาเชื่อมต่อกันกับเนื้อสมอง และพัฒนาเชื่อมโยงกันเองเกิดเป็นข่ายใยเส้นประสาทจำนวนมาก เพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ ซึ่งเซลล์สมองจะพัฒนาจนถึงอายุ 2 ปี ทั้งนี้ สตรีตั้งครรภ์สามารถส่งเสริมสมองและกระตุ้นพัฒนาการของทารกในครรภ์ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก ไอโอดีน กรดโฟเลต กรดไขมัน จะทำให้ทารกได้รับสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างเนื้อสมอง และระบบเส้นใยประสาทที่มีคุณภาพต่อไป
นอกจากนี้ การให้คุณแม่ท้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศดี การกระตุ้นระบบประสาททารกในครรภ์ทั้งด้านการมองเห็น การได้ยิน การรับความรู้สึก และการเคลื่อนไหว จะช่วยให้ทารกมีศักยภาพในการเรียนรู้ภายหลังคลอดได้ในระดับสูงสุด