ไข้เลือดออกในเด็ก สังเกตอาการเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ

0

ไข้เลือดออกในเด็กเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้นที่มีสภาพอากาศเอื้อต่อการแพร่พันธุ์ของยุงลาย อีกทั้งเด็กทารกยังไม่รู้วิธีป้องกันการถูกยุงกัด จึงอาจติดเชื้อไข้เลือดออกผ่านการถูกยุงกัดโดยไม่รู้ตัว ที่น่ากลัวคือ ทารกที่อายุต่ำกว่า 12 เดือน มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป

โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue Virus) มียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบได้ในทุกกลุ่มอายุ อย่างไรก็ตาม ทารกที่อายุต่ำกว่า 12 เดือน เด็ก และผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสเดงกีมาก่อน มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป สาเหตุของโรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัส มี 4 ชนิด ดังนั้น ถ้ามีการติดเชื้อชนิดใดแล้วจะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนั้นไปตลอดชีวิต และจะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกี อีก 3 ชนิดในช่วงสั้น ๆ ไม่ถาวร ประมาณ 6-12 เดือน หลังจากระยะนี้แล้ว คนที่เคยติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดหนึ่งอาจติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดอื่นที่ต่างไปจากครั้งแรกได้ เป็นการติดเชื้อซ้ำ

โรคไข้เลือดออกติดต่อถึงกันได้โดยมียุงลายบ้าน เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ โดยยุงตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยในระยะไข้สูง และฟักตัวในยุงประมาณ 8-12 วัน จากนั้นเมื่อยุงตัวนี้ไปกัดคนปกติ ก็จะปล่อยเชื้อไวรัสไปยังผู้ที่ถูกกัด เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคน และผ่านระยะฟักตัวประมาณ 5-8 วัน (สั้นที่สุด 3 วัน – นานที่สุด 15 วัน) ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้ สำหรับเชื้อเดงกีนี้จะอยู่ในตัวยุงนั้นตลอดชีวิตของยุง คือ ประมาณ 45 วัน

เด็กมักมีอาการของไข้เลือดออกหลังได้รับเชื้อไวรัสภายใน 4–10 วัน โดยอาการในระยะแรกมักไม่ชัดเจนและอาจใกล้เคียงกับโรคอื่นได้ อย่างไรก็ตาม สัญญาณบ่งชี้ไข้เลือดออกในเด็ก มีดังนี้

– มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือตัวเย็น โดยอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส

– เซื่องซึม ไม่ยอมนอน เบื่ออาหาร ร้องไห้งอแงผิดปกติ

– มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น มีน้ำตาออกมาน้อยหรือไม่มีน้ำตาเลยขณะร้องไห้ ปากและลิ้นแห้ง ปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะน้อยลง (อาจสังเกตจากการเปลี่ยนผ้าอ้อมน้อยกว่า 6 ชิ้นต่อวัน)

– มีผื่นแดง จ้ำเลือด หรือจุดเลือดขึ้นตามร่างกาย

หากเบบี๋มีอาการปวดท้อง อาเจียนมากกว่า 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง มีเลือดออกบริเวณเหงือก เลือดกำเดาไหล ถ่ายหรืออาเจียนเป็นเลือด อ่อนเพลีย และงอแงผิดปกติหลังจากไข้ลดลง 24–48 ชั่วโมง ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที เพราะไข้เลือดออกชนิดรุนแรงอาจทำให้การทำงานของอวัยวะภายในเสียหายหรือล้มเหลว ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ หากเบบี๋มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำร่วมด้วย อาการเลือดออกจะรุนแรงมากขึ้นและอาจเกิดภาวะช็อคหลังจากไข้ลดลง เด็กอาจชัก หมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

การรักษาโรคไข้เลือดออก จะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ตามอาการ โดยให้เบบี๋นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ระวังอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ โดยให้เบบี๋ดื่มนมแม่หรือนมผงที่เคยดื่มตามปกติ แต่ให้บ่อยครั้งขึ้น รวมถึงเช็ดตัวลดไข้และให้รับประทานยาลดไข้และบรรเทาอาการปวดประเภทยาพาราเซตามอล หากเบบี๋มีอาการรุนแรง เช่น อาเจียน ท้องเสีย มีเลือดออกมาก ไข้ไม่ลดลงภายใน 3–4 วัน และดูซึมลง ควรรีบพาไปพบแพทย์

ทั้งนี้ พ่อแม่สามารถช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกไม่ให้เกิดกับเบบี๋ได้ โดยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและการป้องกันไม่ให้ยุงกัดเบบี๋ เช่น ให้นอนในมุ้ง ทายากันยุง ให้ใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดรวมถึงให้สวมถุงเท้า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *