สถานการณ์ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรเพิ่มจำนวน 21 ราย และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ไม่อยากเสี่ยง เรามารู้จักโรคพร้อมวิธีป้องกันเพื่อเตรียมพร้อมรับมือโรคฝีดาษวานรอย่างถูกวิธีกันดีกว่า
โรคฝีดาษวานร หรือ โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ของประเทศไทย พบผู้ป่วยรายแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ปัจจุบันมีรายงานผู้ป่วยรวม 43 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม โรคฝีดาษวานรไม่ใช่โรคใหม่ แต่เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้
การแพร่เชื้อจากคนสู่คนเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ สำหรับกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่/ ขาดยาต้านไวรัส, ผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ, ผู้ป่วยมะเร็ง, ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ, หญิงตั้งครรภ์/ ให้นมบุตร, เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี ทั้งนี้ โรคฝีดาษวานรสามารถป้องกันได้โดยการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง
วิธีตรวจสอบอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง หากมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด หรือ มีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือ ผู้ป่วยฝีดาษวานร หรือ มีผื่น/ตุ่มสงสัย ดังนี้
1. มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยฝีดาษวานร ทางช่องทางดังต่อไปนี้ อวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือ ปาก
2. ทำความสะอาดห้องหรือใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วยสงสัยหรือ ผู้ป่วยฝีดาษวานรขณะผู้ป่วยมีอาการ
3. เคยดูแลผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยฝีดาษวานรขณะป่วย
ให้สังเกตภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน หากมีอาการ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต เช่น บริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ เจ็บคอ คัดจมูก หรือ ไอ มีผื่น หรือ ตุ่มน้ำหรือ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือ ทวารหนัก หรือ บริเวณรอบ ๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก หากมีอาการให้รีบเข้ารับการตรวจที่สถานบริการสุขภาพ หรือ โรงพยาบาล โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงทันที
วิธีป้องกันการติดเชื้อโรคฝีดาษวานร
1. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก
2. ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า
3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง หรือผู้ป่วยต้องสงสัย
4. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด
5. ล้างมือให้สะอาดอย่างถูกวิธีบ่อย ๆ
6. ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
7. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
ทั้งนี้ การสวมถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ เพราะการสัมผัสแนบชิด เช่น สัมผัสร่างกาย กอด จูบ ลูบ คลำ เป็นช่องทางหลังของการติดเชื้อ