3 ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกันในครอบครัว

0

ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวล้วนสำคัญกับคุณภาพความสัมพันธ์ของครอบครัว แต่คู่ความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุดก็คือสามีภรรยา โดยส่วนใหญ่ครอบครัวที่สามีภรรยามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มักส่งผลต่อความรักความผูกพันระหว่างพ่อ แม่ ลูก และพี่กับน้อง และนี่คือ 3 ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกันในครอบครัว

1. การเห็นคุณค่าและชื่นชมอย่างเหมาะสม : ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวเป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดที่สุด การเห็นคุณค่าของกันและกัน สื่อสารด้วยคำพูดที่ดีต่อกันร่วมกับการแสดงออกถึงความรักความผูกพันที่มีต่อกัน เช่น การชื่นชม การกล่าวคำชมเชยมีความหมายต่อสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะต่อลูกหลานที่ทำให้รู้สึกว่า ตนเองมีค่า มีความหมายต่อคนในครอบครัว ทำให้เกิดความรักความผูกพันแน่นเหนียว อีกทั้งได้เรียนรู้จากการได้รับการชมเชยว่า สิ่งใดเป็นเรื่องดีที่ควรประพฤติปฏิบัติ ครอบครัวที่สื่อสารกันน้อย ไม่แสดงออกถึงความรักที่มีต่อกัน มักมีสัมพันธภาพที่เปราะบางและเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เด็กมีปัญหาทางพฤติกรรมตามมา

2. การแนะนำเชิงสร้างสรรค์ : การแนะนำเชิงสร้างสรรค์ ยึดมั่นในเจตนาที่ดีให้ประโยชน์ในเชิงการพัฒนาและปรับปรุงตนเอง แต่การติติงที่ไม่เหมาะสมมักทำให้เกิดผลในทางลบ เช่น การทะเลาะกัน แต่โอกาสที่จะพลาดพลั้ง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ การให้คำแนะนำเชิงสร้างสรรค์จึงเป็นทักษะที่ต้องฝึก และทำด้วยความระมัดระวังเพื่อช่วยให้ผู้ที่พลาดพลั้งได้เรียนรู้ และมีกำลังใจลุกขึ้นมาปรับปรุงแก้ไขจากความรัก ความเข้าใจ และการให้โอกาสของคนในครอบครัว ซึ่งคำแนะนำเชิงสร้างสรรค์ที่รักษาและเสริมสร้างสัมพันธภาพควรมีลักษณะดังนี้

• ต้องแน่ใจว่า ผู้รับคำแนะนำอยู่ในภาวะที่พร้อมจะรับฟัง เลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสม เช่น คุยกันในช่วงที่อารมณ์สงบหรือแจ่มใส ไม่ติในช่วงที่มีอารมณ์โกรธ

• เรื่องที่จะแนะนำ ต้องเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว

• พูดถึงพฤติกรรมที่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรมบอกทางแก้ไขไว้ด้วย เช่น ควรทำอย่างไรให้ดีขึ้น

• เมื่อต้องติติงในสิ่งใด สิ่งนั้นต้องเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้

• ไม่ตำหนิต่อหน้าคนอื่น

3. การแก้ไขความขัดแย้งในเชิงสร้างสรรค์ : ความเห็นต่างและความขัดแย้งในครอบครัว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติ สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกในการแก้ไขความขัดแย้งคือ หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ พยายามพูดคุยกันด้วยอารมณ์ที่สงบ และตั้งใจฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง ในท้ายที่สุดจึงช่วยกันเลือกหรือตัดสินใจมองหาทางออกที่ทั้งคู่ยอมรับได้และควรเป็นไปในลักษณะดังต่อไปนี้

• แสดงความปรารถนาอย่างแน่วแน่ที่จะร่วมกันรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้

• มุ่งมั่นเชิงสร้างสรรค์ เป็นไปในทางการปรึกษากัน ให้ความสำคัญ และตั้งใจฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง

• แสดงความคิดเห็นของเราให้ชัดเจนและสื่อสารให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับทราบ

• ยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน ไม่ถือว่าการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นเป็นเรื่องแพ้ หรือเป็นเรื่องที่เสียหาย

• หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ ขู่ คุกคาม ดื้อรั้น

• ช่วยกันเลือกหาทางออกที่ยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย

พ่อแม่ ผู้ปกครองในบ้าน จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและเป็นแบบอย่างการสร้างสัมพันธภาพที่ดี เพื่อส่งต่อแนวคิดแนวปฏิบัติที่เหมาะสมไปสู่ลูกหลาน และทำให้ครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *