เตรียมพร้อมรับมือ “ไข้หวัดนก H5N1” โรคร้ายอันตรายถึงชีวิต

0

กลายเป็นประเด็นสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง สำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 เนื่องจากการแพร่กระจายของเชื้อจากนกที่บินไปรอบโลก และพบรายงานการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมทั้งคนเพิ่มมากขึ้น โดยเคสล่าสุดคือ การเสียชีวิตของเด็กหญิงชาวกัมพูชา เมื่อ 23 ก.พ. 66

“โรคไข้หวัดนก” เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (Influenza A) ที่พบในสัตว์ปีก เชื้อมีหลายสายพันธุ์ และบางสายพันธุ์สามารถติดต่อสู่คนได้ เช่น H5 และ H7 สามารถพบเชื้อได้ในสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีก จากจมูก ปาก ตา และมูลของสัตว์ปีก ระยะฟักตัวโดยเฉลี่ย 2–5 วัน แต่อาจยาวนานได้ถึง 17 วันหลังได้รับเชื้อ โรคนี้สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีเชื้อ และจากการสัมผัสอุปกรณ์หรือสิ่งของที่อาจปนเปื้อนเชื้อ

โดยส่วนใหญ่หากสัตว์ปีกติดเชื้อไวรัสกลุ่มที่ก่อโรครุนแรง (Highly Pathogenic Avian Influenza; HPAI) เช่น เชื้อสายพันธุ์ H5N1 ชนิดรุนแรง อาจทำให้พบสิ่งคัดหลั่งออกมาจำนวนมาก ซึ่งคนสามารถรับเชื้อผ่านทางการหายใจเอาสิ่งคัดหลั่งที่ฟุ้งกระจายเป็นละอองฝอยในอากาศเข้าไป รวมถึงการนำมือที่สัมผัสเชื้อมาลูบจมูก ตา หรือปาก สำหรับการรายงานการติดต่อระหว่างคนสู่คน พบว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยและอยู่ในวงจำกัดที่สัมผัสกันอย่างใกล้ชิดเท่านั้น

อาการที่พบ ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก ปวดเมื่อยตัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจลำบาก และอาจพบอาการท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง หรือชักเกร็งได้ อัตราป่วยตาย ร้อยละ 53 และยังมีอาการอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น เยื่อบุตาขาวอักเสบอย่างอ่อน อาการทางเดินหายใจส่วนต้นคล้ายไข้หวัดใหญ่ จนถึงปอดอักเสบเสียชีวิต

คำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงโรคไข้หวัดนก

1. หากมีอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือผู้ป่วยปอดบวม ให้รีบพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติสัมผัสโรค หรือแจ้งประวัติการเดินทาง

2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยและตาย หากไปที่ตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ สารคัดหลั่งของสัตว์ รวมทั้งพื้นผิวที่สัตว์เหล่านั้นอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค

3. ห้ามนำสัตว์ปีกที่ป่วยตายไปรับประทานหรือให้สัตว์อื่นกิน ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

4. หากต้องสัมผัสกับสัตว์ปีกในระยะที่มีการระบาดในพื้นที่ ให้สวมหน้ากากอนามัย และสวมถุงมือ

5. เลือกเนื้อไก่และเป็ดสดจากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐานหรือร้านค้าประจำ และเลือกซื้อไก่และเป็ดสดที่ไม่มีลักษณะบ่งชี้ว่าอาจจะตายด้วยโรคติดเชื้อ เช่น เนื้อมีสีคล้ำ มีจุดเลือดออก ส่วนไข่ให้เลือกซื้อฟองที่ดูสดใหม่ไม่มีมูลไก่หรือเป็ดติดเปื้อนที่เปลือกไข่ และล้างทำความสะอาดก่อนนำมาปรุงการปรุงประกอบอาหาร

6. หากปรุงอาหารเอง ต้องไม่ใช้มือที่หยิบ จับไก่ดิบหรือเปื้อนมาจับจมูก ตาและปาก หมั่นล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจับเนื้อสัตว์ และเปลือกไข่ที่มีมูลสัตว์เปื้อน หากมีบาดแผลที่มือต้องปกปิดแผลให้มิดชิด ควรแยกเขียงสำหรับหั่นเนื้อไก่สด เป็ดสด จากเขียงสำหรับหั่นอาหารที่ปรุงสุกแล้ว และเขียงผัก ผลไม้โดยเฉพาะ

7. รับประทานเนื้อไก่ เป็ด และไข่ที่ปรุงสุก โดยใช้ความร้อนให้อาหารสุกอย่างทั่วถึงด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 นาที เพื่อลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรครวมทั้งยาฆ่าแมลงตกค้าง

ย้ำอีกครั้ง หากมีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น เจ็บคอ ไอ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที กรณีทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์หรือมีประวัติสัมผัสซากสัตว์ต้องแจ้งแพทย์ด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *