ปาร์ตี้ปีใหม่ห่างไกล “โรคอาหารเป็นพิษ” ด้วยทริค “สุก-ร้อน-สะอาด”

0

ช่วงเทศกาลปีใหม่ มักมีการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์เพื่อพบปะ พูดคุย และรับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน หรือตามร้านอาหารและแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ อาจทำให้มองข้ามความสะอาดของอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งที่ตามมา คือ การเจ็บป่วยด้วย “โรคอาหารเป็นพิษ”

โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) เป็นโรคระบบทางเดินอาหารที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย สาเหตุเกิดจากการปนเปื้อนของสารเคมี โลหะหนัก หรือจากการรับประทานอาหารและน้ำที่มีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ส่วนใหญ่มีอาการภายหลังรับประทานอาหารทะเล ที่ปรุงไม่สุกพอ หรืออาหารที่ปนเปื้อนอาหารทะเลหรือชะล้างด้วยน้ำทะเลที่ปนเปื้อนเชื้อ

เมื่อรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเข้าไปจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน มีอาการสูญเสียน้ำ เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย กระหายน้ำ ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะ คอแห้ง กระหายน้ำ และอาจมีไข้หนาวสั่นและปวดหัว ในรายที่มีอาการถ่ายอุจจาระมาก ๆ ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกหมดสติได้ เนื่องจากร่างกายมีการสูญเสียน้ำมาก สำหรับภาวะแทรกซ้อนของโรคอาหารเป็นพิษ เช่น บางรายเกิดเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ บางคนมีอาการคล้ายจะเป็นลมเนื่องจากร่างกายขาดเกลือแร่ บางรายมีอาการกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง

หลัก “สุก ร้อน สะอาด” เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ มีดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ หรืออาหารสุก ๆ ดิบ ๆ

2. หากอาหารมีรูป รส กลิ่น สี ผิดปกติ ไม่ควรนำมารับประทาน

3. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ส่วนอาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง 4. เลือกบริโภคอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็งที่สะอาดได้มาตรฐาน

5. เลือกซื้อวัตถุดิบที่สด สะอาด และมีคุณภาพ จากแหล่งที่เชื่อถือได้

6. ล้างวัตถุดิบให้สะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนเชื้อโรค

7. ควรใช้ช้อนกลางส่วนตัวเมื่อรับประทานอาหารร่วมกัน

8. ก่อนหยิบจับหรือรับประทานอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง

สำหรับเมนูที่กินแล้วเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ ได้แก่

-อาหารที่มีกะทิ เช่น แกงต่าง ๆ ขนมหวานที่ใส่กะทิ หรือราดน้ำกะทิ ซึ่งกะทิเป็นอาหารที่บูดเสียได้ง่าย

-ขนมจีนน้ำยาต่าง ๆ เนื่องจากเส้นขนมจีนและน้ำยากะทิบูดง่าย ส่วนผักสดเครื่องเคียงก็อาจจะล้างไม่สะอาดพอ

-ส้มตำ และยำต่าง ๆ วัตถุดิบที่ใช้อาจไม่สดใหม่และสะอาดพอ เช่น ปลาร้าไม่ได้มาตรฐาน ถั่วลิสงขึ้นรา กุ้งแห้งใส่สี

-อาหารทะเล อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคจากการเสื่อมของคุณภาพอาหาร หรือสารเคมีที่ใช้ในการยืดอายุอาหาร

-สลัด การรับประทานผักสด มีโอกาสได้รับเชื้อโรคที่ติดมาจากขนส่งหรือภาชนะที่ใส่ รวมถึงล้างผักได้ไม่สะอาดพอ

-น้ำและน้ำแข็ง กระบวนการทำน้ำแข็งบางครั้ง อาจไม่สะอาด มีผงหรือเศษฝุ่นต่าง ๆ ติดอยู่ในก้อนน้ำแข็ง

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ มีอาการถ่ายบ่อย ควรให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันการขาดน้ำ และควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *