ไม่ต้องเป็นผู้สูงวัยเสมอไป ยุคนี้คนรุ่นใหม่ที่อายุยังน้อยก็มีอาการปวดหลังกันมาก ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง นั่งหรือยืนผิดท่า การก้มหน้าเล่นมือถือนาน ๆ แม้อาการปวดหลังจะไม่ใช่เรื่องแปลก แต่หากปวดหลังเรื้อรังมานาน อาจเป็นสัญญาณเตือน เนื้องอกไขสันหลัง ซึ่งอาจเป็นอัมพาตได้
ระบบประสาทส่วนกลางของร่างกายนั้น ประกอบไปด้วยสมองและไขสันหลังที่มีความสำคัญ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถเกิดความผิดปกติได้เช่นกัน โดยเฉพาะ เนื้องอกไขสันหลัง ซึ่งก็คือ เนื้องอกที่อยู่ในโพรงกระดูกสันหลัง อยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ระดับคอจากรอยต่อก้านสมอง ไปจนถึงระดับเอว หากเกิดการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ประสาทจะพัฒนากลายเป็นเนื้องอก โดยที่เซลล์ของเนื้องอกไขสันหลังส่วนใหญ่เป็นเซลล์ของเยื่อหุ้มไขสันหลัง เซลล์เยื่อหุ้มเส้นประสาท และเซลล์ภายในไขสันหลัง
อาการของเนื้องอกไขสันหลัง ในแต่ละตำแหน่งจะมีความแตกต่างกัน เช่น ถ้าเนื้องอกอยู่ในระดับกระดูกสันหลังส่วนคอ จะมีอาการอ่อนแรงกล้ามเนื้อแขน ชาตามมือและแขนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนอาการปวดต้นคอจะไม่มาก อาจมีอาการเพียงแค่ปวดตึงคอ ไม่ค่อยมีอาการปวดร้าวลงแขนแบบที่พบในโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน เวลาเดินบางครั้งอาจมีอาการเกร็งที่ขา 2 ข้าง
ส่วนอาการเนื้องอกไขสันหลังในระดับเอวจะมีอาการอ่อนแรงขาข้างใดข้างหนึ่ง เวลาเดินขาอาจจะทรุดลงได้ หากยังไม่รับการรักษาอาการอ่อนแรงจะมากขึ้น หรืออาจทำให้อัมพาตทั้งแขนและขาทั้ง 2 ข้างได้ อาการส่วนใหญ่จะมีอาการอ่อนแรงที่ขา เป็นหลัก ร่วมกับมีอาการชาของลำตัวลงไปจนถึงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างได้
ในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการปวดบริเวณกลางหลัง ชาหรือปวดร้าว รอบ ๆ อกได้ เนื้องอกในระดับกระดูกสันหลังส่วนเอวจะมีเส้นประสาทไขสันหลัง และส่วนปลายของไขสันหลัง หากเกิดเนื้องอกบริเวณนี้ อาการอ่อนแรงจะไม่อ่อนแรงขาทั้งข้าง ซึ่งต่างจากเนื้องอก ในตำแหน่งระดับคอ หรือ อก แต่ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลัง ปวดเอว ร่วมกับอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ อาการปวดหลัง มีตั้งแต่ปวดตึงไปจนถึงปวดมาก นอนพักก็ไม่หาย ปวดแบบโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน ผู้ป่วยบางรายปวดมาก จนไม่สามารถนอนได้ หากอาการรุนแรงมากขึ้นจะพบปัญหาระบบการขับถ่าย เช่น กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้
ปัจจุบันใช้การรักษาโรคเนื้องอกไขสันหลังโดยการผ่าตัด โดยมีวัตถุประสงค์หลักมุ่งเน้นตัดเนื้องอกออกให้ได้มากที่สุดและไม่เกิดผลแทรกซ้อน ช่วยลดอาการสมองบวม ลดอาการชัก การผ่าตัดจะเน้นผ่าตัดแผลขนาดไม่ใหญ่ โดยนำเครื่องนำวิถี (Navigation) มาใช้ ช่วยให้การผ่าตัดมีความแม่นยำมากขึ้น และช่วยให้เกิดการบาดเจ็บกับสมองน้อยที่สุด มีการใช้เครื่องตรวจจับสัญญาณระบบประสาทระหว่างการผ่าตัด (Intraoperative neuromonitoring) Iรวมถึงมีการใช้กล้องผ่าตัดกำลังขยายสูง (Microscope) เพื่อช่วยให้ประสาทศัลยแพทย์สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ทำให้ผ่าตัดได้ปลอดภัยมากขึ้น
ดังนั้น หากสำรวจตัวเองแล้วพบว่าคุณมีอาการของโรคเนื้องอกไขสันหลัง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว เพื่อการรักษาที่ได้ผลดีและหายเป็นปกติได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ