ทริคเสริมพัฒนาการด้านบุคลิกภาพ-คุณธรรมของเบบี๋

0

ช่วงวัย 3 ปีแรกของชีวิตเด็ก เป็นรากฐานที่สำคัญของสุขภาพในทุกมิติต่อช่วงชีวิตที่เหลือของเด็ก เป็นระยะที่เด็กเติบโตอย่างรวดเร็วและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายของพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน จึงเป็นหน้าที่สำคัญของพ่อแม่ในการส่งเสริมพัฒนาการรอบด้านให้เบบี๋ ซึ่งรวมถึงด้านบุคลิกภาพและคุณธรรมด้วย

คู่มือสำหรับพ่อแม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอน วัยเด็กเล็ก 0-3 ปี โดยราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ พัฒนาการด้านบุคลิกภาพและคุณธรรมของเด็กอายุ 0 – 3 ปี สรุปความได้ดังนี้

ทารก 0-1 ปี แม้ว่าจะยังไม่เข้าใจภาษาแต่ทารกยังต้องการการยิ้มและชมเชยจากพ่อแม่ แม้ว่าจะเป็นการทำอะไรสำเร็จเพียงเล็กน้อย เพื่อเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ที่จะอยู่คนเดียวตามลำพังบ้าง และพอโตขึ้นควรสอนให้เด็กรับผิดชอบ เช่น ที่ 4 เดือนให้หัดถือขวดนมเอง ที่อายุ 1 ปีให้หัดเก็บของเล่น เป็นต้น

พ่อแม่ควรแสดงให้ลูกเห็นว่าการกระทำของเขาสามารถส่งผลให้ผู้อื่นรู้สึกดี มีความสุข หรือเศร้าเสียใจได้ เช่น พูดกับลูกว่า “ตีไม่ได้ แม่เจ็บนะ” พร้อมกับการแสดงสีหน้าประกอบด้วย เป็นต้น การสอนให้ลูกเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น เป็นพื้นฐานของการพัฒนาด้านคุณธรรมต่อไป ทั้งนี้ พ่อแม่สามารถเริ่มฝึกวินัยง่าย ๆ โดยการสอนให้ลูกรู้ว่าอะไรทำได้ หรือทำไม่ได้ เช่น พูดว่า “ไม่” พร้อมทั้งแสดงสีหน้าท่าทางประกอบ แต่ไม่ควรห้าม หรือพูดว่า “ไม่” พร่ำเพรื่อเกินไป สอนมารยาททางสังคมโดยการเป็นตัวอย่างที่ดีในชีวิตประจำวัน เช่น การพูด “ขอบคุณ” “ช่วยหน่อยสิจ๊ะ” ไม่ใช่ออกคำสั่งแต่อย่างเดียว

เด็กวัย 1-3 ปี ควรให้สำรวจหรือทำอะไรด้วยตัวเองตามที่ต้องการ โดยจัดมุมปลอดภัยให้ เปิดโอกาสให้ลูกได้ตัดสินใจบางสิ่งบางอย่างด้วยตัวเองบ้าง ถ้าลูกทำอะไรที่อาจจะยากเกินความสามารถที่จะทำโดยลำพัง พ่อแม่อาจช่วยเหลือในบางขั้นตอน และปล่อยให้เด็กทำต่อเองจนสำเร็จ วิธีเหล่านี้จะช่วยพัฒนาความเป็นตัวตนและเสริมสร้างความมั่นใจของลูก

หัดให้รับผิดชอบผลของการกระทำของตัวเอง โดยพิจารณาจากความสามารถตามวัยด้วย เช่น ถ้าลูกทำน้ำหกใส่พื้น อาจให้ลูกช่วยหยิบผ้ามาให้แม่เช็ดพื้น หรือช่วยแม่เช็ดด้วยบางส่วน นอกจากนี้ ควรฝึกให้ลูกช่วยงานบ้านง่าย ๆ ตามความสามารถ เช่น เอาเสื้อผ้าใส่ตะกร้าผ้า โดยทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่างก่อน หรือช่วยกันทำในระยะแรก และปล่อยให้ลูกทำเองในที่สุด ให้กำลังใจและชมเชยเมื่อลูกทำได้สำเร็จ ระมัดระวังคำพูดตำหนิลูกอย่างไม่เหมาะสม เพราะลูกอาจฝังใจและรู้สึกไม่ดี เช่น ไม่ควรตำหนิว่า “งก” หรือ “เห็นแก่ตัว” ถ้าเด็กไม่แบ่งของเล่นให้เพื่อน หรือ “โง่” เวลาเด็กทำอะไรไม่ได้

การสอนให้ลูกเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญมากในการพัฒนาด้านคุณธรรม โดยสอนให้ลูกรู้จักความรู้สึกชนิดต่าง ๆ เช่น เศร้า ดีใจ โกรธ เสียใจ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น หากลูกกำลังหงุดหงิดโกรธอยู่ พ่อแม่อาจพูดว่า “หนูกำลังโกรธ” หรือพ่อแม่อาจเป็นตัวอย่างเอง เช่น ขณะที่แม่รู้สึกโกรธ แม่พูดให้ลูกรู้ว่า “แม่กำลังรู้สึกโกรธอยู่” เมื่อจะสอนให้ลูกทำในสิ่งที่ถูกต้องก็ควรจะบอกเหตุผลง่าย ๆ สั้น ๆ ไปพร้อมกันและพ่อแม่ต้องจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูก โดยเน้นให้ลูกเข้าใจถึงความรู้สึกของคนที่ได้รับผล กระทบจากการกระทำของเขา เช่น “พี่เขาคงเจ็บที่ถูกหนูหยิก น่าสงสารพี่เขานะ”

การฝึกวินัยในเด็กวัย 0-3 ปีนี้ โดยการกำหนดกฎเกณฑ์ให้ลูกรู้ว่าอะไรที่ลูกทำได้หรือทำไม่ได้ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ควรเหมาะสมกับวัย อธิบายให้ลูกเข้าใจอย่างชัดเจน และใช้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ควรชมเชยหรือให้รางวัลเพื่อช่วยให้ลูกทำตามกฎเกณฑ์มากกว่าการใช้การลงโทษ

ทั้งนี้ การฝึกมารยาทให้ลูก ควรอธิบายก่อนว่าพ่อแม่ต้องการให้ลูกปฏิบัติอย่างไร โดยบอกสั้น ๆ ง่าย ๆ ทีละ 1-2 อย่างก่อน เช่น สอนให้ลูกสวัสดี หรือขอบคุณ ฯลฯ อาจใช้การเล่นสมมุติในการช่วยสอนเรื่องมารยาทด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *