ภาวะวูบหมดสติ…สาเหตุเกิดจากอะไร?

0

เคยเป็นกันหรือไม่กับอาการสูญเสียความรู้สึกตัว และการทรงตัวชั่วคราว พอรู้สึกตัวก็จำเหตุการณ์ตอนหมดสติไม่ได้ ภาวะนี้เรียกว่า “ภาวะวูบหมดสติ” ที่น่ากลัว คือ หากมีอาการนี้บ่อย ๆ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่าจะวูบหมดสติอีกเมื่อไร ถ้าเกิดขณะขับรถหรืออยู่ในที่สูง ย่อมเสี่ยงอันตรายมาก

ภาวะวูบหมดสติ (Syncope) เป็นอาการสูญเสียความรู้สึกตัว และการทรงตัวชั่วคราว โดยทั่วไปเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองลดลงชั่วขณะ ทำให้สมองขาดออกซิเจนชั่วคราวจะมีลักษณะอาการเฉพาะคือ หมดสติเฉียบพลัน เกิดขึ้นชั่วขณะในระยะเวลาอันสั้น และสามารถฟื้นคืนสติได้เอง จะแสดงออกทางอาการหลากหลาย เช่น เรียกไม่รู้สึกตัว ล้มลงกับพื้น ทรงตัวไม่อยู่ อาจมีอาการเกร็งที่มือ เท้า ตาค้างชั่วขณะ เหงื่อออกที่ใบหน้า ซึ่งผู้ป่วยจะจำเหตุการณ์ตอนหมดสติไม่ได้

โดยภาวะวูบหมดสติ จะมีระยะเวลาการหมดสติ ตั้งแต่ 30 วินาที ถึง 5 นาที ขึ้นกับสุขภาพของผู้ป่วย บางรายอาจมีอาการนำมาก่อนเกิดอาการวูบหมดสติ เช่น รู้สึกหวิว ๆ มึนศีรษะ โคลงเคลง ตาพล่า เห็นแสงแวบวาบ ปลายมือปลายเท้าเย็น คลื่นไส้ อาเจียน มวนท้อง อยากถ่าย เหงื่อแตก ขณะหมดสติอาจมีอาการเกร็ง กระตุกได้ อาจทำให้สับสนกับโรคลมชัก

สาเหตุของภาวะวูบหมดสติ เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น

1. สาเหตุจากหัวใจ เกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจอาจเต้นช้าเกินไป ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ หรือบางกรณีหัวใจเต้นเร็วเกินไป ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพดีพอที่จะส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้เป็นลม หรือเป็นโรคหัวใจชนิดที่มีการอุดตันการไหลเวียนของเลือด เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจตีบขั้นรุนแรง หลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ สาเหตุชนิดนี้เป็นสาเหตุที่อันตราย เพราะผู้ป่วยอาจเสียชีวิตเฉียบพลันได้

2. เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ ซึ่งมักพบตามหลังสถานการณ์เฉพาะบางอย่าง เช่น หลังไอ จาม เบ่ง ยืนนาน ๆ ในที่แออัด หรืออากาศร้อน กลัวการเจาะเลือด เป็นต้น

3. ความดันโลหิตต่ำ ที่พบบ่อยเกิดจากภาวะท้องเสีย เลือดออกในทางเดินอาหาร ผู้ป่วยที่ได้รับยาลดความดันในขนาดที่มากเกินไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ

4. เป็นลมธรรมดา เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ผู้ป่วยมักมีประวัติเป็นลมตั้งแต่เด็ก มักเป็นลมเวลาเห็นเลือด เห็นเข็มฉีดยา ยืนกลางแดด อากาศร้อนอบอ้าว อยู่ในรถโดยสารที่มีคนแน่น

5. เกิดจากการเสียเลือดหรือขาดน้ำ เช่น ท้องเสียรุนแรง หรือมีเลือดออกในอวัยวะภายใน

6. เกิดจากยาบางชนิด โดยเฉพาะยาลดความดันโลหิตสูง ยารักษาต่อมลูกหมาก ยาต้านอาการซึมเศร้า ยาเบาหวาน

สิ่งที่เป็นอันตรายที่ควรต้องระวัง คือ หลังจากผู้ป่วยตื่นขึ้นมาอาจมีอาการบาดเจ็บได้ ในส่วนของการรักษาควรจะต้องรักษาที่สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ แต่ถ้าหากวูบหมดสติตื่นขึ้นมาแล้วมีอาการ เช่น ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด ชาหรืออ่อนแรงร่างกายครึ่งซีก อาจเป็นสัญญาณเตือนความผิดปกติภาวะทางสมองอาการของหลอดเลือดสมองตีบ หรือหลอดเลือดสมองแตกได้ ผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดควรต้องสังเกตอาการวูบที่เกิดขึ้น และควรรีบมาพบแพทย์ทันทีอย่าปล่อยทิ้งไว้ 

ย้ำอีกครั้ง อาการวูบไม่รู้ตัวเป็นเรื่องที่อันตรายมากโดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานบนที่สูง หรือผู้ที่ต้องขับรถ ดังนั้น หากมีอาการวูบบ่อย ๆ ควรพบแพทย์ประเมินหาสาเหตุ เพื่อนำไปสู่การรักษาและป้องกัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *