รับมืออย่างไร? เมื่อลูกอยากลอง “กัญชา”

0

หลังจากประเทศไทยปลดล็อกกัญชาพ้นออกจากบัญชียาเสพติด ทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชาสามารถจำหน่ายได้อย่างแพร่หลายในท้องตลาด และเพราะสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น บวกกับความอยากรู้อยากลอง ปัญหาที่ทำให้พ่อแม่หลายคนเป็นกังวลในช่วงนี้ คือ จะรับมืออย่างไร? เมื่อลูกอยากลอง “กัญชา”

การที่ผู้บริโภคทุกช่วงอายุสามารถเข้าถึงกัญชาได้ง่ายมากขึ้น อาจทำให้กลุ่มเด็กและวัยรุ่นใช้กัญชาได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้กัญชาโดยตรงหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผสมกัญชาโดยไม่ได้ตั้งใจ หรืออาจเกิดจากความตั้งใจที่มาจากหลายสาเหตุ เช่น อยากลองใช้กัญชาเพราะอยากรู้ว่าใช้แล้วจะรู้สึกอย่างไร อยากลองใช้กัญชาเพราะเพื่อนชวน อยากเป็นที่ยอมรับของเพื่อน อยากลองใช้กัญชาเพราะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการแสวงหายาเสพติดมาใช้ อยากลองใช้กัญชาเพราะอยากหนีจากความกดดันเรื่องต่าง ๆ อาทิ ปัญหาครอบครัว ปัญหาความการเรียน ปัญหาเรื่องเพื่อน ปัญหาความรัก เป็นต้น

วิธีการสื่อสารและรับมือ เมื่อเด็กอยากลองกัญชา

1. ฟังเด็กเล่า อย่างตั้งใจ เพื่อให้เข้าใจว่าเพราะอะไรถึงอยากลอง ไม่ควรพูดแทรก ดุว่า ด่าทอ หรือตัดสินไปก่อน ซึ่งควรให้เด็กเล่าจนจบ

2. ชมความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ของเด็กที่บอกความคิดความรู้สึกที่แท้จริง และบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ฟัง

3. ให้ข้อมูลสั้น กระชับ ครบถ้วน และเหมาะกับวัยของเด็ก โดยให้ข้อมูลถึงผลเสียและอันตรายของกัญชา ควรมีตัวอย่างเป็นรูปธรรม เช่น จากข่าว เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน

4. แสดงความหนักแน่นชัดเจน ไม่เห็นด้วย/ ไม่อนุญาต/ ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก โดยไม่ใช้อารมณ์และไม่แสดงทำทีตำหนิรุนแรง อธิบายว่าที่ห้ามเพราะเป็นอันตราย ต่อสมอง และสุขภาพจิต ซึ่งหากสมองเสียไปแล้วกู้คืนได้ยาก พร้อมแนะนำให้บอกเด็กเพิ่มเติมว่า รู้ และเข้าใจว่าโกรธไม่พอใจที่ถูกขัดใจ แต่ที่ห้าม เพราะ รักและเป็นห่วง แต่หากเด็กไปลอง ทั้งที่บอกแล้ว ควรให้ได้รับผล เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เช่น งดเที่ยว หรือหักค่าขนมชั่วคราว ย้ำว่าควรเลี่ยงการลงโทษด้วยความรุนแรง

5. ถามเด็กว่า เมื่อไม่ได้ลองใช้จะเกิดความรู้สึก และคาดว่าจะมีปัญหาอะไรตามมา เช่น เพื่อนจะไม่ให้เข้ากลุ่มหรือไม่ แล้วช่วยเด็กจัดการความรู้สึก รวมถึงวางแผนรับมือ แก้ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

6. เชื่อมั่นและไว้ใจในตัวเขา โดยบอกว่าเราเคยเชื่อมั่นในตัวเขามาแล้วในสถานการณ์ใดบ้าง และอาจเพิ่มแรงเสริมด้วยการบอกว่าถ้าเขาทำให้ไว้ใจได้จะได้รับโอกาสให้ได้รับความไว้ใจเรื่องอื่น ๆ เพิ่มเติมขึ้นไปอีก

7. ให้ความมั่นใจและให้เด็กรู้สึกปลอดภัย วางใจได้ว่าสุดท้ายไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขอให้บอก และเราพร้อมจะช่วยแก้ปัญหา บอกแล้วทำตามที่พูด ไม่ลงโทษด้วยความรุนแรง ไม่ลอยแพ หรือตัดหางปล่อยวัด

ดังนั้น การมีความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว การให้ความรู้ถึงพิษภัยของสารเสพติด การอยู่ในสังคมที่ปลอดยาเสพติด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ลูกห่างไกลยาเสพติดได้ ทั้งนี้ หากพบว่าลูกติดยาเสพติดควรรีบพาไปรักษาอย่างต่อเนื่องในสถานพยาบาล ในรายที่มีความเสี่ยงน้อยการรักษาจะได้ผลดี และไม่กลับไปเสพซ้ำได้สูง ส่วนในรายที่มีปัจจัยเสี่ยงมาก มีปัญหาในทุก ๆ ด้าน โอกาสแก้ไขให้เลิกใช้ยา อาจได้ผลในระยะสั้น ๆ เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะกลับไปใช้ได้อีก

ครอบครัวมีส่วนสำคัญมากที่ช่วยให้เด็กห่างไกลจากยาเสพติด หากปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวไม่ดี จะส่งผลให้เด็กมีปัญหาได้ง่ายและหาทางออกไม่ได้ จนต้องพึ่งความสุขปลอม ๆ จากกัญชา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *