ตอบคำถามอย่างไรดี เมื่อลูกแต่ละวัยสงสัยเรื่องเพศ

0

เด็กสงสัยอยากรู้เรื่องเพศ ถือเป็นเรื่องปกติ พ่อแม่ ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยอาจรู้สึกว่าการคุยเรื่องเพศกับลูกเป็นเรื่องยาก จึงมักปล่อยเบลอเมื่อลูกตั้งคำถาม โดยลืมนึกไปว่ายิ่งพ่อแม่คุยเรื่องเพศกับลูกเร็วเท่าไร ลูกก็ยิ่งมีข้อมูลและทักษะดูแลตัวเองได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น ถ้าไม่รู้จะตอบคำถามลูกอย่างไร เรามีไกด์ไลน์มาแนะนำ

การพูดคุยเรื่องเพศในครอบครัวไม่มีหลักสูตรตายตัว อีกทั้งไม่ยากอย่างที่คิด ขอเพียงเข้าใจและเห็นความสำคัญ นอกจากให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับลูกแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึกถึงในการตอบคำถามเรื่องเพศคือ การเลือกใช้ความลึกซึ้งของเนื้อหา และรูปแบบการสื่อสารควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับวัย

เด็กวัยก่อนเข้าเรียน (3-4 ปี)

เรื่องที่เด็กอยากรู้ : เด็กวัย 3-4 ปีจะสนใจเรื่องความแตกต่างกันของสรีระร่างกาย เช่นเด็กผู้ชายมีจู๋ เด็กผู้หญิงมีจิ๋ม เปรียบเทียบร่างกายของตัวเองกับคนรอบข้าง แต่ยังแยกบทบาทระหว่างเพศไม่ได้

แนวคำตอบ : เด็กวัยนี้ไม่ต้องการคำตอบซับซ้อน แค่ให้คำตอบที่เป็นจริงสั้น ๆ เข้าใจได้ง่าย ๆ ไม่ต้องให้เหตุผล เพราะเขาแค่อยากรู้สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไป เหมือนกับที่เขาอยากรู้ว่า ฝนมาจากไหน ทำไมวัวถึงร้องมอ ๆ

เด็กวัยเรียน (5-8 ปี)

เรื่องนี้ที่เด็กอยากรู้ : เด็กวัยนี้เริ่มมีสังคมของตัวเองและเรียนรู้พฤติกรรมจากเพื่อน เริ่มแยกบทบาทสมมุติได้ เช่น ผู้ชายคือ สามี/ พ่อ ผู้หญิงคือ ภรรยา/ แม่ และเริ่มต้องการความเป็นส่วนตัว เริ่มสนใจเรื่องเพศที่ซับซ้อนขึ้น เช่น อวัยวะแต่ละส่วนมีหน้าที่อะไร ทำไมผู้หญิงจึงตั้งท้อง

แนวคำตอบ : เป็นโอกาสที่จะเริ่มคุยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกายก่อนเข้าสู่วัยรุ่น เพื่อเตรียมความพร้อม โดยเด็กวัยนี้สามารถฟังคำอธิบายที่ซับซ้อนได้มากขึ้น และควรพูดให้เด็กเห็นภาพเป็นรูปธรรมชัดเจน

เด็กก่อนวัยรุ่น (9-12 ปี)

เรื่องนี้ที่เด็กอยากรู้ : ช่วงวัยต่อเข้าสู่วัยรุ่นจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากทั้งทางร่างกาย เริ่มเห็นรูปร่างทรวดทรงที่แตกต่างระหว่างหญิงและชายได้ชัดเจน และด้านจิตใจที่มีอารมณ์อ่อนไหวและรุนแรงกว่าวัยอื่นๆ เริ่มมีความสนใจในเพศตรงข้ามมากขึ้น และผลการสำรวจความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศของเยาวชนที่พบว่า เด็กวัยนี้รู้เรื่องการคุมกำเนิดน้อยมาก

แนวคำตอบ : พ่อแม่ต้องให้ความใส่ใจแต่ไม่ควรเฝ้าจับผิด ไม่พูดจาถากถางให้ลูกรู้สึกผิดหรืออาย ส่งเสริมให้ลูกได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น เล่นกีฬา มีงานอดิเรก ถ้าปล่อยให้ว่างเกินไป อาจยิ่งว้าวุ่นจนเลือกทางออกไม่เหมาะสม เช่น เพ้อฝัน หมกมุ่นกับเรื่องราวทางเพศ ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีในการให้คำตอบเรื่องที่เขาอยากรู้ เช่น คนเราเกิดมาได้อย่างไร พร้อมสอดแทรกความรู้ว่าเพศสัมพันธ์มีข้อดีข้อเสียอย่างไร รวมถึงทักษะการปฏิเสธเมื่อถูกชวนให้มีเพศสัมพันธ์ ถือเป็นการติดอาวุธเพื่อให้ภูมิคุ้มกันไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

เพราะพัฒนาการทางเพศของมนุษย์เป็นเรื่องธรรมชาติไม่ต่างจากพัฒนาการด้านอื่น ๆ พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างการเรียนรู้เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถดูแลตัวเองได้อย่างเท่าทันและถูกต้องตามพัฒนาการแต่ละช่วงวัย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *