มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรคที่มีพาหะจาก “ยุงลาย”

0

ฤดูฝนนับเป็นช่วงที่เกิดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุต่าง ๆ ได้ง่าย อากาศที่เย็นลงและความชื้นที่เพิ่มขึ้น ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ความที่ฝนตกทำให้มีน้ำท่วมขังจึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการระบาดของโรคที่มีพาหะจากยุงลายได้

สำหรับโรคที่มีพาหะจากยุงลายที่มักระบาดในช่วงฤดูฝน ได้แก่

1. โรคไข้เลือดออก (Dengue Fever) เป็นโรคติดต่อที่ระบาดหนักมากในช่วงฤดูฝน โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งพบได้ในทุกกลุ่มอายุ อาการของโรคไข้เลือดออกแม้จะไม่รุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้เสียชีวิตได้ โดยอาการจะไล่ระดับจากเบาไปรุนแรง เช่น ไข้สูงลอย 2-7 วัน, มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง, มีตับโต กดเจ็บ, มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ ภาวะช็อก

2. โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ในผู้ใหญ่อาการที่เด่นชัด คือ อาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็ก ๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า และอาจรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ โดยรวมอาการคล้ายกับไข้เลือดออก ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีอาการช็อก

3. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika Fever) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไวรัสซิกา ที่มียุงลายเป็นพาหะในการแพร่เชื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรง แต่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่ส่งผลให้ทารกมีภาวะสมองพิการแต่กำเนิด ทำให้ทารกมีกะโหลกศีรษะและสมองที่เล็กกว่าปกติ ส่วนในรายที่ติดเชื้ออย่างรุนแรงอาจส่งผลให้เกิดภาวะสมองอักเสบเฉียบพลัน หรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคติดเชื้อไวรัสซิกาส่วนใหญ่ป่วยแล้วสามารถหายได้เอง โดยหากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาการเหล่านี้จะทุเลาลงภายในเวลา 2–7 วัน

มาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค (โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา) ได้แก่

1. เก็บบ้าน/ โรงเรียน/ สถานที่ทำงาน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก

2. เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ 

3. เก็บขยะภายในบริเวณบ้าน/ โรงเรียน/ สถานที่ทำงาน ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

สรุปก็คือ การกำจัดแหล่งยุงลายเพื่อเป็นการป้องกันโรค รวมถึงระวังและป้องกันไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง ติดมุ้งลวด

ทั้งนี้ หากคุณหรือสมาชิกในครอบครัวมีอาการไข้สูงลอย รับประทานยาแล้วไข้ไม่ลดหรือลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน และไอบูโพรเฟน และหากมีอาการ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นการเจ็บป่วยร่วมกันระหว่างไข้เลือดออก กับโรคโควิด 19 จะทำให้ทรุดหนักอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น เมื่อมีอาการต้องสงสัยดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะช่วยลดความรุนแรงของการเสียชีวิตได้ 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *