9 มิ.ย. 2565 คือวันที่ประเทศไทย “ปลดล็อกกัญชา” ออกจากสารเสพติดประเภทที่ 5 เป็นวันแรก หลายคนรู้สึกตื่นเต้นเนื่องจากคาดหวังในประโยชน์ที่อาจได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากกัญชา หนึ่งในผลิตภัณฑ์กัญชาที่ถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์และมีจำหน่ายมากที่สุดในท้องตลาด คือ “น้ำมันกัญชา”
กัญชาเป็นพืชสมุนไพรที่มีสารออกฤทธิ์ (bioactive compounds) มากกว่า 400 ชนิด พบมากที่สุดเป็น สารแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) ได้แก่ เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอยด์ (delta-9-tetrahydrocannabinol : THC) และแคนนาบิไดอัล (cannabidiol : CBD) ออกฤทธิ์ ยับยั้ง กระตุ้น ระบบประสาท ฮอร์โมน ภูมิคุ้มกัน ผ่านระบบ endocannabinoid ของร่างกาย มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย แต่สามารถปลูกได้ทุกประเทศทั่วโลก
การใช้สารสกัดจากกัญชาในทางการแพทย์ก็เหมือนกับการใช้ยาชนิดอื่น ๆ ที่มีรูปแบบยาหรือผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทให้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นการสูดไอระเหยเข้าสู่ทางเดินหายใจ การให้ยาโดยการรับประทาน หรือผ่านผิวหนัง เป็นต้น เพื่อสนองวัตถุประสงค์ของการรักษาและความต้องการของผู้ป่วยที่แตกต่างกัน โดยจำเป็นต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับโรค และอาการของผู้ป่วยแต่ละราย สำหรับผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ยอดนิยมที่หลายคนรู้จักดี คือ น้ำมันกัญชา
น้ำมันกัญชา เป็นสารสกัดจากช่อดอกกัญชาประกอบด้วยสารแคนนาบินอยด์และเทอร์ปีน ที่มีความเข้มข้น ใช้ตัวทำละลายเป็นน้ำมันมีลักษณะเหนียวหนืด สีเข้ม โดยน้ำมันที่นิยมใช้ เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันทานตะวัน น้ำมันถั่วลิสง เป็นต้น สำหรับวิธีใช้นั้น ใช้หยดยาใต้ลิ้น ยาจะถูกดูดซึมผ่านชั้นเยื่อเมือกบุผิวในปากแล้วเข้าสู่กระแสเลือด
ประโยชน์และสรรพคุณของน้ำมันกัญชาถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์ เพื่อรักษาอาการและโรคบางชนิด เช่น ใช้บรรเทาอาการปวดเรื้อรัง บำรุงสุขภาพหัวใจ ลดระดับความเครียด ลดความวิตกกังวลและอาการซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป หรือผู้ใช้มีอาการแพ้น้ำมันกัญชาก็อาจส่งผลเสีย ทำให้มีผลข้างเคียง เช่น อ่อนเพลีย ท้องเสีย ความอยากอาหารหรือน้ำหนักมีการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
น้ำมันกัญชา เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายมากที่สุดในตลาด ซึ่งมีคุณภาพที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัตถุดิบตั้งต้น คือ ช่อดอกกัญชา ผู้ผลิตหลายรายอาจไม่ได้ใช้ช่อดอกกัญชาที่ได้มาตรฐานทำให้อาจมีปริมาณสารแคนนาบินอยด์แตกต่างจากปริมาณที่ระบุไว้บนฉลาก การใช้กรรมวิธีการปลูกและสกัดที่ไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้ไม่ทราบปริมาณและสัดส่วนที่ชัดเจนของสารสำคัญได้แก่ THC และ CBD และอาจมีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย ได้แก่ โลหะหนักและยาฆ่าแมลง ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ผลการรักษาและอาการข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นได้
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุถึงคุณสมบัติของน้ำมันกัญชา 3 ประเภท ที่ได้รับการยอมรับในฐานะสารสกัดน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ ประกอบไปด้วยกลุ่มสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) ที่พบในพืชกัญชา ได้แก่
1. น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ สูตร THC ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด
2. น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ สูตร CBD ใช้รักษาผู้ป่วยโรคลมชักที่รักษายาก หรือดื้อต่อการรักษา
3. น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ สูตร THC : CBD ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
ทั้งนี้ ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชงควรศึกษาข้อมูลและวิธีใช้ที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การใช้กัญชาและกัญชงเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ