มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง..มะเร็งที่พบมากในคนไทย-มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี

0

โรคมะเร็ง จัดเป็น 1 ใน 10 ของสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลก และมากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา สำหรับประเทศไทยนั้น มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบมากในคนไทย มีอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ จากสถิติทะเบียนมะเร็งประเทศไทยรายงานว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบมากในคนไทย มีอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ปัจจุบันมีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 16,000 คนต่อปี เป็นเพศชายและหญิงราว 8,658 และ 7,281 คน ตามลำดับ และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,500 คนต่อปี

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง

1. มีพฤติกรรมการกินที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรค เช่น การรับประทานอาหารในกลุ่มเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปที่ปิ้งย่างไหม้เกรียม อาหารที่มีไขมันสูง อาหารฟาสฟู้ด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

2. การสูบบุหรี่

3. มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน

4. มีประวัติครอบครัวหรือตนเอง เป็นติ่งเนื้อในลำไส้ (มักเป็นมาแต่กำเนิด) เมื่ออายุมากขึ้นจะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้

5. ผู้ป่วยเคยมีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่ มดลูก เต้านม หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง จะมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงได้มากกว่าคนปกติ

6. การอักเสบเรื้อรังของลำไส้ใหญ่ โดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งได้

7. ท้องผูก ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ทำให้ของเสียหรือสารก่อมะเร็งค้างอยู่ในลำไส้เป็นเวลานาน

โดยทั่วไปมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงในระยะเริ่มแรกมักจะไม่แสดงอาการ ซึ่งจะพบอาการก็ต่อเมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจนถึงระยะสุดท้าย ส่งผลทำให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร อาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่ การถ่ายอุจจาระผิดปกติ มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง ถ่ายไม่สุด ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด หรืออาจถ่ายเป็นเลือดสด ขนาดลำอุจจาระเล็กลง และมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืดเรื้อรัง เป็นต้น

แม้ว่าจะเป็นโรคที่หลายคนอาจรู้สึกกลัว แต่อย่างไรก็ตามมีข้อมูลว่า ส่วนหนึ่งเราสามารถป้องกันการเกิดโรคได้จากการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวข้างต้น รวมถึงการเข้ารับการตรวจคัดกรองโรค ซึ่งหากพบมะเร็งในระยะเริ่มแรกหรือระยะก่อนเป็นมะเร็งจะส่งผลให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคสูง ปัจจุบันประชาชนไทยอายุ 50-70 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับการตรวจเม็ดเลือดแดงแฝงในอุจจาระด้วยวิธี Fecal Immunochemical Test (FIT) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่สถานพยาบาลตามสิทธิ์การรักษา กรณีพบผลผิดปกติจะได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อวินิจฉัยต่อไป

การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงให้ได้ผลดีต้องเป็นการรักษาร่วม ประกอบด้วยการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการให้รังสีรักษา โดยให้พิจารณาตามความเหมาะสมและข้อบ่งชี้ในผู้ป่วยแต่ละรายไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *