วัณโรคถือเป็นโรคติดต่อที่อันตรายมาก จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ในแต่ละวันจะมีคนเสียชีวิตจากวัณโรคมากกว่า 4,100 คน และเกือบ 28,000 คน ล้มป่วยด้วยวัณโรค สำหรับประเทศไทย ปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 105,000 รายต่อปี และมีผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตถึง 10,000 รายต่อปี
วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis หรือ TB ซึ่งเชื้อวัณโรคสามารถเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 พบที่ปอด เรียกว่าวัณโรคปอด นอกจากนี้ ยังพบได้ที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก เยื่อหุ้มสมอง วัณโรคติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอากาศ โดยเชื้อจะออกมากับการไอ จาม ทำให้เชื้อกระจายอยู่ในอากาศ และเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจเอาเชื้อเข้าไป ก่อให้เกิดการติดเชื้อและป่วยได้
สำหรับอาการของผู้ป่วยวัณโรค ได้แก่ อาการไอติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะปนเลือด อาจมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น มีเหงื่อออกมากผิดปกติในเวลากลางคืนถึงแม้อากาศเย็น ไอแห้ง ๆ หรือมีเสมหะ เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีไข้ต่ำ ๆ อาการแทรกซ้อนอาจพบได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในปอดมีน้ำในช่องหุ้มปอด และหากเชื้อแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่นๆ ก็จะกลายเป็นวัณโรคของอวัยวะนั้นๆ ดังนั้น เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที หากมีอาการใดอาการหนึ่งต่อไปนี้ 1. ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ 2. ไอมีเสมหะปนเลือด ควรรีบไปตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
กลุ่มเสี่ยงวัณโรค ได้แก่ กลุ่มผู้อาศัยร่วมบ้าน หรือผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค, ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์, ผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไปที่มีโรคร่วม เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน, ผู้ต้องขังในเรือนจำ, ผู้ติดสารเสพติด และบุคลากรสาธารณสุข ควรตรวจร่างกายโดยการเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปี 1 ละครั้ง ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีอาการก็ตาม
วัณโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการกินยาอย่างน้อย 6-8 เดือน ซึ่งต้องกินยาครบทุกเม็ด ครบทุกมื้อ กินยาจนครบการรักษา ที่สำคัญไม่ควรหยุดยาเอง หากมีอาการแพ้ยา ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที กรณีวัณโรคดื้อยาที่ใช้สูตรยาระยะสั้นไม่ได้ ต้องรักษาอย่างน้อย 18 เดือน แม้ว่าวัณโรคจะสามารถรักษาให้หายขาด แต่ก็มีโอกาสกลับไปเป็นซ้ำได้ หากผู้ป่วยไม่มีวินัยในการกินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
การป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นวัณโรค ทำได้โดยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทาน ป้องกันตนเองโดยสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคระยะแพร่เชื้อ หรือเมื่ออยู่ในชุมชน สำหรับผู้ป่วยวัณโรคให้สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อวัณโรคสู่ผู้อื่น ที่สำคัญต้องกินยาให้ครบถ้วนสม่ำเสมอทุกวันจนครบระยะเวลาตามแพทย์สั่ง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยวัณโรคในระยะเริ่มแรก อาจไม่มีอาการใด ๆ กล่าวคือ ผู้ที่รับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย จะไม่แสดงอาการป่วยในทันที แต่จะแสดงอาการเมื่อร่างกายอ่อนแอ