ฤดูฝนในบ้านเราปีนี้ต้องบอกว่ามีฝนตกอย่างต่อเนื่องทีเดียว โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาต่อเนื่องจนถึงเดือนนี้มีฝนตกหนักบ่อยครั้งจนบางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม นำไปสู่การขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มในบางพื้นที่ รวมถึงเกิดความเสี่ยงในการเจ็บไข้ได้ป่วยอันเนื่องมาจากอาหารและน้ำดื่ม
เนื่องจากมีข้อจำกัดของการกินอาหารในช่วงน้ำท่วม อาทิ มีอาหารจำนวนจำกัดและไม่หลากหลายชนิด โดยเป็นอาหารที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งอาหารแห้ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารปรุงสำเร็จที่ใส่กล่อง จึงมีโอกาสปนเปื้อนจากสภาพแวดล้อมสูง ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค และได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม จึงควรป้องกันโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ
การเลือกรับประทานอาหารในช่วงน้ำท่วม มีดังนี้
1. หากระบบประปา ยังสามารถใช้การได้ปกติ ให้ทำความสะอาดภาชนะใส่อาหาร ด้วยน้ำสะอาดผสมคลอรีน
2. อาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ไข่ ผักสด ต้องปรุงให้สุกด้วยความร้อน ควรกินอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทสุก ๆ ดิบ ๆ ต้องปรุงให้สุกก่อน เพราะในภาวะน้ำท่วม มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อโรคสูงมาก หากเป็นไปได้ ควรอุ่นอาหารทุกครั้งก่อนกินอาหาร รวมถึงต้องเก็บในภาชนะที่มีการปกปิด เช่น ฝาปิด ฝาชีครอบ หรือใส่ถุงพลาสติกปิดให้สนิท เพื่อป้องกันแมลงวันตอม ไม่ใช้มือหยิบจับอาหารโดยตรง ควรใช้ช้อนหรือทัพพีตักอาหาร
3. อาหารสำเร็จรูป และอาหารกระป๋อง ควรดูสภาพสี กลิ่น กระป๋องหรือภาชนะบรรจุ ที่ปิดสนิท ไม่ฉีกขาด กระป๋องไม่ปูดบวม หรือเป็นสนิม และสังเกตวันหมดอายุ ก่อนบริโภคควรอุ่นให้ร้อน โดยนำมาใส่ภาชนะอื่นก่อน แล้วทำการอุ่นให้เดือด ห้ามอุ่นอาหารทั้งกระป๋องโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะเกิดอันตรายจากสารเคลือบหรือสารโลหะที่จะละลายปนมาในอาหารได้ ส่วนอาหารกระป๋องที่เปิดแล้วหากกินไม่หมด ต้องถ่ายใส่ภาชนะอื่นที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค
4. อาหารกล่อง ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทบูดเสียง่าย เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของกะทิ มีไขมันสูง จัดอาหารเป็นชุดแยกข้าวกับกับข้าว ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ก่อนรับประทานว่าบูดแล้วหรือยัง ดมแล้วไม่มีกลิ่นบูด กินได้ แต่ถ้าบูดแล้วต้องทิ้ง อย่าฝืนกิน เพราะผลเสียจะตามมาทันที เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ใช้อุปกรณ์ในการหยิบจับอาหาร ควรกินหลังปรุงภายใน 2 ชั่วโมง อาหารต้องบรรจุในภาชนะที่สะอาด ไม่มีแมลงวันตอม
5. สังเกตลักษณะอาหารก่อนบริโภคว่าไม่มีกลิ่นหรือลักษณะผิดปกติ และไม่ควรนำอาหารที่ตกค้างจากมื้อก่อนมาบริโภค
ที่สำคัญไม่แพ้อาหารคือ น้ำดื่ม ควรเป็นน้ำที่สะอาด ผ่านการกรองหรือทำให้ตกตะกอน และควรต้มให้เดือดก่อนดื่ม เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับน้ำ ที่สำคัญควรล้างมือทุกครั้งก่อนกินและหลังใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม