ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ที่ทวีความรุนแรงในบ้านเรา คุณแม่ตั้งครรภ์ ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องให้ความสำคัญในการป้องกันดูแลเป็นพิเศษ และนี่คือข้อปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์เพื่อป้องกันตัวเองจากโรคโควิด-19
1. การฝากครรภ์
การนัดหมายตรวจครรภ์ ควรมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมโดยพิจารณาจากช่วงอายุครรภ์ ภาวะเสี่ยงของการตั้งครรภ์ ร่วมกับการสังเกตอาการของคุณแม่และร่วมกับการตรวจพิเศษอื่น ๆ เป็นแนวทางในการกำหนดวันนัดหมาย สำหรับการตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 และไม่มีการนัดตรวจพิเศษอื่น ๆ คุณแม่สามารถโทรติดต่อขอเลื่อนนัดตรวจครรภ์ออกไปตามความเหมาะสม
เมื่อมีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล คุณแม่ท้องควรมีการนัดเวลาล่วงหน้าเพื่อลดระยะเวลาอยู่โรงพยาบาลให้สั้นที่สุด หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ แนะนำให้มีผู้ติดตามไม่เกิน 1 คนและสวมหน้ากากตลอดเวลาที่ออกนอกบ้าน พกแอลกอฮอล์เจลติดตัวเพื่อล้างมือให้สะอาดเมื่อจำเป็น ระหว่างนั่งรอตรวจหรือรับยา ให้เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร เมื่อกลับถึงบ้าน ให้ถอดหน้ากากทิ้งอย่างถูกวิธี ล้างมือ และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความจำเป็นต้องพบแพทย์ ได้แก่ อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ขึ้นไป, ลูกดิ้นน้อยลง, เลือดออกทางช่องคลอดหรือปวดท้อง, ปัสสาวะแสบขัด, มีนัดตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์หรือธาลัสซีเมีย, นัดตรวจอัลตร้าซาวด์, นัดคัดกรองเบาหวาน
2. การเฝ้าสังเกตอาการตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ขณะอยู่ที่บ้าน
คุณแม่ควรเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และติดต่อประสานแพทย์หรือพยาบาลที่ฝากครรภ์อยู่เพื่อขอคำแนะนำ นอกจากนี้ยังต้องคอยสังเกตอาการที่เข้าข่ายโรคติดเชื้อ COVID – 19 ได้แก่ ไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจไม่สะดวกหรือท้องเสีย ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ ต้องรีบพบแพทย์
ฉะนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องหมั่นสังเกตและบันทึกความเปลี่ยนแปลงของสิ่งเหล่านี้ ได้แก่ คอยวัดความดันโลหิต, คอยวัดอุณหภูมิของร่างกาย, ชั่งน้ำหนักตัว, เฝ้าสั่งเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย (เช่น อาการบวม การเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ ปวดท้อง เลือดออก/ ของเหลวใสออกจากช่องคลอด)
3. การดูแลสุขภาพจิตของคุณแม่ตั้งครรภ์
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรติดตามข่าวสารอย่างพอเหมาะ ทำความเข้าใจและเรียนรู้วิธีป้องกันตนเอง จากการติดเชื้อผ่านช่องทางข่าวสารที่เชื่อถือได้ ลดการรับข่าวสารจากหลายช่องทางที่อาจก่อให้เกิดความตระหนกและหวาดกลัว พยายามรักษาสมดุลในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นปกติออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ สมาชิกในครอบครัวควรมีส่วนช่วยเหลือ สนับสนุนและให้กำลังใจคุณแม่ตั้งครรภ์เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น
ทั้งนี้ หากคุณแม่มีปัญหาไม่สามารถปรับสภาวะทางอารมณ์ให้เป็นปกติได้ควรปรึกษาแพทย์หรือผ่านทางสายด่วนกรมสุขภาพจิต ( โทร 1323) เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยเหลืออย่างถูกวิธี