การตั้งครรภ์ เป็นความแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นกับร่างกายผู้หญิง เมื่อไข่ตกและได้รับการปฏิสนธิแล้ว บางคนไม่มีอาการทางร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย แต่ก็มีหลายอาการที่มักเกิดกับคุณแม่ท้อง และนี่คือ 6 อาการไม่สบายตัวที่มักเกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์ ส่วนสาเหตุและวิธีแก้ไขคืออะไร เรามีคำตอบ
- อาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือแพ้ท้อง (มักพบในระยะเริ่มแรกของการตั้งครรภ์และมักหายไปในราวสัปดาห์ที่ 12-16)
สาเหตุ : เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน HCG และจากสภาวะจิตใจ
วิธีแก้ไข : ช่วงเช้าก่อนลุกจากที่นอนให้รับประทานขนมปังปิ้ง หรือ เครื่องดื่มอุ่น ๆ, รับประทานอาหารทีละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง หลีกเลี่ยงอาหารมัน, รับประทานวิตามิน บี 6
- แสบยอดอก (เป็นปัญหาที่พบบ่อย พบได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์)
สาเหตุ : ฮอร์โมนโปรเตสเตอโรน ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดคลายตัว, กรดในกระเพาะไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหาร
วิธีแก้ไข : หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน รสจัดและย่อยยาก, รับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง, รับประทานยาลดกรด, ให้นั่งหรือนอนศีรษะสูง 30 องศาหลังรับประทานอาหารเพื่อป้องกันกรดไหลย้อน
- ปัสสาวะบ่อย (ส่วนใหญ่พบในไตรมาสแรกและไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์)
สาเหตุ : เกิดจากการที่มดลูกกดทับกระเพาะปัสสาวะในช่วงแรกของการตั้งครรภ์, ส่วนนำของทารกกดทับกระเพาะปัสสาวะในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์
วิธีแก้ไข : ไม่กลั้นปัสสาวะ, หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อนนอน
- ท้องผูก
สาเหตุ : เกิดจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนทำให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวช้าลง
วิธีแก้ไข : ดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน, รับประทานอาหารที่มีกากใย, หมั่นเคลื่อนไหวขยับร่างกายหรือออกกำลังกายแบบโยคะ โดยท่าที่ช่วยกระตุ้นลำไส้ให้ขับถ่ายสะดวก เช่น ท่าพะวันมุตาสนะ
- ตะคริว
สาเหตุ : เกิดจากแคลเซียมน้อย หรือขาดความสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัส
วิธีแก้ไข : เมื่อมีอาการ ให้เหยียดขาตรงและกระดกปลายเท้าขึ้นมาทางด้านบนหรือศีรษะ, ดื่มนมหรือรับประทานแคลเซียมเสริม
- ปวดหลัง
สาเหตุ : จากการที่กล้ามเนื้อบริเวณหลังถูกดึงรั้งจากมดลูกที่มีขนาดโตขึ้นตามอายุครรภ์ ทำให้หญิงตั้งครรภ์ แอ่นหลังมากขึ้นเพื่อเพิ่มจุดศูนย์ถ่วง จึงทำให้กล้ามเนื้อที่บริเวณหลังและสะโพกแอ่นตึง
วิธีแก้ไข : พยายามปรับสมดุลโดยนั่งหรือยืนให้หลังตรง โดยพยายามดึงไหล่ให้กลับมาทางด้านหน้า, ไม่สวมรองเท้าส้นสูง, ช่วยผ่อนคลายโดยการนวดบริเวณหลัง หรือเอนกายในท่านอนตะแคง, นอนตะแคงซ้ายเพื่อช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกายได้ดีขึ้น, บริหารกล้ามเนื้อเชิงกรานด้วยท่าโยคะ
หากทำตามคำแนะนำแล้ว อาการดังกล่าวไม่ดีขึ้น คุณแม่ท้องควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็ควินิจฉัยและนำไปสู่การรักษาที่ถูกจุด เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ