ความขัดแย้งระหว่างลูกวัยรุ่นกับพ่อแม่นั้น ส่วนใหญ่มาจากการที่พ่อแม่ขาดความเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น ตามไม่ทันยุคสมัยของวัยรุ่น จึงมักตัดสินพฤติกรรมของลูกด้วยมาตรฐานของตัวเอง ไม่อยากให้ความสัมพันธ์ของครอบครัวย้ำแย่เพราะความไม่เข้าใจกัน นี่คือข้อแนะนำในการสอนลูกวัยรุ่นให้ได้ผล
วิธีการสอนลูกวัยรุ่นให้ได้ผล โดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
- แสดงความพร้อมที่จะเป็นที่ปรึกษาของลูกวัยรุ่น : บอกลูกวัยรุ่นว่ามีอะไรให้ปรึกษาได้ พ่อแม่พร้อมจะเข้าใจและรับฟังลูกเสมอ พ่อแม่ควรแสดงความใส่ใจลูกด้วยการสังเกตว่าลูกมีสีหน้าท่าทางไม่สบายใจหรือไม่ ทักทายลูกว่ามีอะไรไม่สบายใจหรือเปล่าอยากจะเล่าให้ฟังไหม แต่ถ้าลูกไม่อยากพูดก็ไม่คาดคั้น ทว่าเมื่อไรลูกมีท่าทีอยากพูดหรืออยากเล่าอะไรให้ฟัง พ่อแม่ควรแสดงความกระตือรือร้น และรับฟังทันที
- รับฟังลูกวัยรุ่นอย่างใส่ใจและเปิดใจ : ช่องว่างระหว่างวัยจะลดลงได้ด้วยการรับฟังอย่างเข้าใจ พ่อแม่ควรรับฟังลูกในทุกเรื่องราวอย่างใส่ใจและอดทนที่จะรับฟังลูกขณะที่ลูกพูด แม้ว่าสิ่งที่ลูกพูดอาจไม่เข้าท่า อาจดูไร้สาระ ไร้เหตุผลในความคิดของพ่อแม่ พ่อแม่ก็ต้องเปิดใจรับฟัง พยายามเข้าใจเรื่องราว เข้าใจว่าความคิดและความรู้สึกของลูก โดยไม่ด่วนสรุป ไม่ตัดสิน หรือรีบสั่งสอน ซึ่งจะทำให้ลูกคิดว่า พ่อแม่ไม่ฟัง และไม่อยากพูดต่อ
- กระตุ้นให้ลูกวัยรุ่นได้แสดงความคิดเห็น : การที่จะกระตุ้นให้ลูกวัยรุ่นได้พูดคุยแสดงความคิดเห็น ควรใช้คำถามประเภทปลายเปิดเพื่อกระตุ้นให้ลูกเล่า เช่น “เรื่องมันเป็นอย่างไร”, “คำพูดอะไรของเพื่อนที่ทำให้ลูกโกรธ” รวมทั้งการพูดถึงความรู้สึกของลูกตามที่พ่อแม่รับรู้และเข้าใจ เช่น “ลูกเสียใจที่เพื่อนเข้าใจลูกผิด”, “ลูกหัวเสียที่เพื่อนไม่ช่วยงานในกลุ่ม” ซึ่งคำพูดเช่นนี้จะทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่พร้อมจะรับฟังให้ความสำคัญกับตนเองและทำให้ลูกอยากเล่าเรื่องราวมากขึ้น
- ให้ความเห็น คำแนะนำต่าง ๆ แทนการสั่งให้ลูกวัยรุ่นทำ : พ่อแม่สามารถให้ความคิดเห็น คำแนะนำในเรื่องต่าง ๆ แก่ลูกวัยรุ่นได้ แต่ควรเป็นลักษณะการแลกเปลี่ยน คือ ให้โอกาสลูกได้พูดถึงมุมมองความเห็นของลูกก่อน แล้วพ่อแม่ก็แสดงความคิดเห็นทั้งในแง่ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของลูก การเป็นฝ่ายรับฟังและยอมรับลูกก่อน จะทำให้ลูกเปิดใจรับฟังพ่อแม่และยินดีปฏิบัติตามมากกว่าวิธีการสั่งให้เขาทำนู่นนี่ ซึ่งมักนำไปสู่ท่าทีต่อต้านไม่เชื่อฟังและขัดแย้งกัน
- สอนลูกวัยรุ่นในบรรยากาศแบบสบายๆ : อย่าสอนหรือพูดคุยอย่างเป็นทางการเพราะลูกวัยรุ่นจะไม่เชื่อฟัง อาศัยสอนอ้อม ๆ เช่น จากข่าวสารต่าง ๆ จากการดูละคร ควรพูดคุยด้วยอารมณ์ขันและพยายามรับฟังความเห็นของลูก รวมทั้งเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความเห็นในเรื่องต่าง ๆ เป็นประจำ ฟังลูกให้มากและพยายามสอดแทรกข้อคิดเห็นต่าง ๆ ร่วมกัน
- พูดคุย และ สอนเฉพาะเรื่องที่จำเป็น : ลูกวัยรุ่นต้องการความเป็นส่วนตัว เรื่องบางเรื่องที่ลูกอาจไม่อยากให้รับรู้ ถ้าเห็นว่าไม่ร้ายแรงหรือไม่เป็นอันตรายก็ไม่ควรซักไซร้มากเกินไป เช่น ลูกชายอาจจะไม่อยากเล่าเรื่องสาวๆ ที่เขาสนิท เพราะบางครั้งการซักถามด้วยความเป็นห่วง อาจกลายเป็นเรื่องน่ารำคาญ และส่งผลให้ลูกวัยรุ่นไม่อยากพูดคุยกับพ่อแม่
พ่อแม่ควรเรียนรู้ธรรมชาติของวัยรุ่นว่าเป็นวัยที่ต้องการอิสระ เป็นตัวของตัวเอง และแสวงหาเอกลักษณ์ของตนเอง ฉะนั้น พยายามทำความเข้าใจลูก อดทน และเปิดใจให้กว้าง ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยก็จะลดน้อยลง