รับมือให้ถูก! เพราะ “สำลัก” ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

0

ภาวะการสำลัก คือ การมีสิ่งแปลกปลอมตกเข้าไปอุดกั้นทางเดินหายใจทำให้หายใจไม่ได้  ส่งผลให้สมองขาดออกซิเจน และเสียชีวิต ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันเวลา ความที่ภาวะนี้มักเกิดขึ้นในเด็กและผู้สูงอายุ จึงเป็นเรื่องที่ครอบครัวควรศึกษาวิธีรับมือเพื่อป้องกันก่อนจะเกิดความสูญเสียขึ้น

 

27

 

เด็กเล็กกับการสำลัก

เนื่องจากเด็กเล็กชอบเอาสิ่งต่าง ๆ เข้าปาก หรือเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ทำให้เสี่ยงต่อการสำลักลงหลอดลมได้ สำหรับวิธีช่วยเด็กสำลักอาหารหรือสิ่งแปลกปลอม กรณีที่เด็กอายุมากกว่า 1 ขวบที่ยังไม่หมดสติ ให้ยืนหรือคุกเข่าอยู่ทางด้านหลังเด็ก ใช้แขนทั้งสองข้างโอบรอบเอว โดยที่มือข้างหนึ่งกำมือให้วางทางด้านนิ้วโป้งบริเวณใต้กระดูกลิ้นปี่แต่เหนือสะดือเล็กน้อย จากนั้นวางมืออีกข้างทับบนกำปั้นนั้น และออกแรงกดมือทั้งสองเข้าไปในท้องเด็ก โดยพยายามดันมือขึ้นมาทางด้านบนในขณะเดียวกัน เพื่อเป็นแรงกระแทกให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา

 

กรณีที่เด็กอายุมากกว่า 1 ขวบที่เด็กหมดสติ ให้ตรวจดูในปากว่ามีสิ่งแปลกปลอมอุดตันหรือไม่ ถ้าเห็นสิ่งแปลกปลอมให้ใช้นิ้วชี้นำเข้าไปที่มุมปากด้านหนึ่งกวาดเข้าไปตามกระพุ้งแก้มแล้วเกี่ยวสิ่งแปลกปลอมนั้นออกมา หากไม่พบ ให้เด็กนอนราบกับพื้นแล้วนั่งคร่อมลำตัวเด็กโดยที่หันหน้าไปด้านศีรษะของเด็ก วางส้นมือทับซ้อนกันที่ตำแหน่งต่ำกว่ากระดูกลิ้นปี่แต่เหนือระดับสะดือ ดันมือเข้าไปในท้องทิศทางด้านศีรษะของเด็ก โดยทำซ้ำ 6 -10 ครั้งจนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา

 

การป้องกันการสำลักในเด็ก รวมถึงสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจของเด็ก ทำได้โดยเก็บสิ่งของชิ้นเล็ก ๆ ให้พ้นจากมือเด็ก เช่น ลูกอม ลูกปัด เมล็ดถั่ว องุ่น ลูกเกด เยลลี่ เหรียญ ซึ่งมีความเสี่ยงในการสำลักหรือติดคอได้ รวมถึงสอนให้เด็กเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ไม่ให้กินหรือดื่มในขณะนอน ไม่พูดและหัวเราะหรือวิ่งเล่นขณะมีอาหารหรืออมน้ำอยู่ในปาก

 

28

 

ผู้สูงอายุกับการสำลัก

เมื่ออายุมากขึ้น การทำงานของระบบการกลืนอาหาร การทำงานของช่องปาก  กลไกของระบบประสาทที่ควบคุมการกลืนลดลง ระบบอวัยวะต่าง ๆ จะเสื่อมลง อาจจะทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อเกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น สำลัก ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ  รวมถึงการมีเสมหะ เศษอาหาร หรือฟันปลอมที่ชำรุดไปอุดกั้นทางเดินหายใจ ผู้สูงอายุที่เกิดอาการสำลัก หรือมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น จะมีอาการหายใจ ติดขัด มีเสียงคล้ายนกหวีดขณะหายใจ พยายามพูดแต่ไม่มีเสียง อาจหมดสติภายใน 4-5 นาที และอาจจะเสียชีวิตได้

 

สำหรับการดูแลเบื้องต้น ผู้สูงอายุอาจไม่มีแรงในการไอเพื่อขับสิ่งที่อุดกั้นทางเดินหายใจให้ออกมา ผู้ดูแลต้องช่วยโดยการยืนด้านหลังผู้สูงอายุ ใช้มืออ้อมจากด้านหลังมากำมือประสานไว้ที่หน้าท้องผู้สูงอายุ เหนือสะดือเล็กน้อย กระแทกมือขึ้นด้านบนบริเวณกะบังลมอย่างรวดเร็ว โดยใช้แรงพอสมควร ตามจังหวะที่ผู้สูงอายุพยายามหายใจเอาสิ่งที่อุดกั้นออก และผู้ดูแลสามารถบอกได้ว่าสิ่งใดที่อุดกั้นทางเดินหายใจจะเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือต่อไป

 

ทั้งนี้ การป้องกันอาการสำลักในผู้สูงอายุสามารถทำได้โดยดูแลสุขภาพเหงือกและฟันผู้สูงอายุ  หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้สำลักง่าย ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการกลืน ไอ หรือมีเสมหะ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษา

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *