เลี่ยงได้เลี่ยง…10 เมนูช่วงหน้าร้อน เสี่ยงอาหารเป็นพิษ

0

ประเทศไทยขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูร้อน เรียกว่าอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลที่ตามคือ เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี และอาจทำให้อาหารบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ เหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ ไม่อยากหมดเรี่ยวแรงจากการขับถ่ายหรืออาเจียนบ่อย ๆ ก็ต้องระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ

51

 

“โรคอาหารเป็นพิษ” เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิ ที่มากับอาหารที่ไม่สะอาด อาหารที่ปรุงไว้นานหรืออาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ และไม่ได้แช่เย็นหรือนำมาอุ่นให้ทั่วถึงก่อนรับประทาน ประกอบกับในช่วงนี้อากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีและเพิ่มจำนวนมากขึ้น

 

อาการของโรคอาหารเป็นพิษ คือ คลื่นไส้ พะอืดพะอม อาเจียน ปวดท้องแบบบิดเกร็งเป็นพัก ๆ (อาการปวดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อโรค) ถ่ายอุจจาระเหลว ปวดหัว คอแห้ง กระหายนํ้า และอาจมีไข้ร่วมด้วย ซึ่งจะพบเกิดอาการได้เร็วสุดตั้งแต่ 1-6 ชั่วโมง แม้ว่าอาการส่วนใหญ่ของโรคอาหารเป็นพิษมักไม่ร้ายแรง แต่หากเกิดอาการรุนแรงขึ้นก็อาจทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่จนเป็นอันตรายได้

 

52

สำหรับอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษที่ประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ 10 เมนู ได้แก่
1. จ่อม/ลาบ/ก้อยดิบ
2. อาหารทะเล
3. อาหารประเภทยำ
4. ข้าวผัดโรยเนื้อปู
5. อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด
6. ขนมจีน
7. ข้าวมันไก่
8. ส้มตำ
9. สลัดผัก
และ 10.น้ำแข็งที่ไม่สะอาดผลิตไม่ได้มาตรฐาน
ซึ่งเมนูอาหารเหล่านี้ควรรับประทานเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ ขอให้หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้ อาหารกล่องควรแยกกับข้าวออกจากข้าว ควรรับประทานภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ และหากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน

 

การป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ทำได้โดยการยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน เมื่อปรุงเสร็จแล้วต้องไม่เก็บไว้นานเกินไป อาหารต้องไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อน-หลังการเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ รวมถึงไม่ควรเสี่ยงรับประทานอาหารเก่าที่อยู่ในตู้เย็นมานานแล้ว

 

หากเกิดอาการอาหารเป็นพิษสามารถรักษาเบื้องต้น โดยจิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อย ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น อาเจียนมาก ถ่ายท้องมาก กินไม่ได้ ควรรีบไปพบแพทย์

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *