การตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นไทย ถือได้ว่าเป็นปัญหาระดับชาติ เพราะส่งผลต่อคุณภาพของประชากร เนื่องจากเด็กที่เกิดมาส่วนใหญ่มักด้อยคุณภาพ มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่า 2,500 กรัม ไม่เจริญเติบโตตามวัย พัฒนาการล่าช้าและสงสัยจะล่าช้าถึงร้อยละ 30 หนึ่งในวิธีป้องกันปัญหาดังกล่าว ก็คือ การคุมกำเนิด
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นไทย สรุปความได้ว่า ในกลุ่มเด็กอายุ 15 – 19 ปี 1,000 คน จะมีคนที่ตั้งครรภ์อยู่ถึง 40 คน ต่อการตั้งครรภ์ต่อปี และในจำนวนนี้ยังมีผู้ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี รวมอยู่ด้วย
ดังนั้น การคุมกำเนิดจึงจำเป็นสำหรับวัยเจริญพันธุ์ในระยะที่ไม่พร้อม ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 10 ปีบริบูรณ์ จนถึงก่อน 20 ปีบริบูรณ์ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์และการตั้งครรภ์ซ้ำในกลุ่มวัยรุ่นหลังคลอด หรือแท้ง หรือต้องการคุมกำเนิด สำหรับวิธีคุมกำเนิดที่ง่ายและได้ผลดี คือ “ยาฝังคุมกำเนิด”
“ยาฝังคุมกำเนิด”
เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวรที่มีประสิทธิภาพสูง จัดเป็นหนึ่งในวิธีคุมกำเนิดชั่ว คราวที่ออกฤทธิ์นาน สามารถคุมกำเนิดได้ในระยะเวลา 3 ปี และ 5 ปี ตลอดจนกลับสู่ภาวะเจริญพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วภายหลังการหยุดใช้ และไม่มีผลรบกวนต่อการมีเพศสัมพันธ์
สตรีที่ใช้ยาฝังคุมกำเนิดจะมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยกว่า 1 ใน 2,000 เป็นการคุมกำเนิดโดยการฝังหลอดยาที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินแท่งเล็กๆ เข้าไปใต้ผิวหนังบริเวณท้องแขนด้านที่ไม่ถนัด ฮอร์โมนจากแท่งยาจะค่อยๆ ซึมออกมาเข้าสู่ร่างกายทีละน้อย เมื่อครบกำหนดต้องเอาหลอดยาเดิมออก เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติสลายไปได้เอง โดยมีกลไกการออกฤทธิ์การคุมกำเนิด คือ
- ทำให้ฟองไข่ไม่สามารถโตต่อไปจนตกไข่ได้ จึงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
- ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะสมแก่การฝังตัวของตัวอ่อน
- ทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น ทำให้เชื้ออสุจิว่ายผ่านเข้าไปได้ยาก จึงช่วยลดโอกาสการผสมไข่
- ยับยั้งการตกไข่ โดยในช่วง 2 ปีแรกที่ใช้จะมีการตกไข่เกิดขึ้นได้ประมาณ 10% แต่ยิ่งนานไป
พบว่าในปีท้ายๆ จะมีการตกไข่ได้บ่อยขึ้น ทั้งนี้ วัยรุ่นหญิงไทยที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถขอรับบริการคุมกำเนิดแบบห่วงอนามัยและยาฝังคุมกำเนิดได้ที่สถานบริการสาธารณสุขในเครือข่ายของ สปสช.ทั่วประเทศค่ะ