ปัญหาฟันน้ำนมผุสำหรับเด็กเป็นปัญหาคาใจของหลายๆ ครอบครัว โดยฟันน้ำนมผุสามารถเกิดได้ตั้งแต่เด็กอายุยังไม่ถึง 1 ปี เมื่อลูกฟันผุ ผลกระทบที่ตามมา คือ อาการปวดฟัน ฟันผุเป็นหนอง มีเชื้อโรคในช่องปาก โดยเฉพาะฟันกราม หากผุแล้วลุกลามมาก อาจส่งผลให้ต้องถูกถอนไปก่อนเวลาอันสมควร
5 สาเหตุที่ทำให้ฟันน้ำนมเสี่ยงผุได้
- ชั้นเคลือบฟันน้ำนมบางประมาณครึ่งหนึ่งของฟันแท้เท่านั้น ให้ฟันน้ำนมผุได้ง่ายกว่าฟันแท้
- พฤติกรรมหลับคาขวด เนื่องจากการดูดขวดนมแล้วปล่อยให้เด็กนอนหลับคาขวด ส่งผลให้แบคทีเรียในช่องปากย่อยน้ำตาลในนมเกิดกรดทำลายเคลือบฟันของเด็กได้
- การคลอดก่อนกำหนด ทำให้ฟันมีการสะสมแร่ธาตุไม่สมบูรณ์
- แม่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์
- การรับประทานขนมเหนียว ขนมหวาน หรือลูกอมบ่อยๆ แล้วไม่แปรงฟัน ทำให้ฟันผุได้ง่าย
เมื่อลูกฟันน้ำนมผุ ทันตแพทย์จะแนะนำให้รักษารากฟันน้ำนมไว้ก่อน โดยยังไม่ถอนออกจนกว่าฟันแท้จะขึ้น ซึ่งการรักษารากฟันน้ำนมในเด็ก เป็นวิธีการหนึ่งที่จะเก็บรักษาฟันน้ำนมเอาไว้ในช่องปากจนใกล้เวลาฟันแท้จะขึ้นเพื่อให้เด็กได้ใช้ฟันในการเคี้ยวอาหารตามปกติ และไม่ให้สูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนวัยอันควร
ฟันน้ำนมไม่ใช่มีประโยชน์ในการบดเคี้ยวอาหารอย่างเดียว ยังใช้เป็นที่เก็บรักษาช่องว่างเพื่อให้ฟันแท้ที่อยู่ข้างใต้ขึ้นได้อย่างเหมาะสม ถ้าสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนเวลา เช่น ถูกถอนฟันไปก่อนที่ฟันแท้จะขึ้นมีโอกาสจะสูญเสียช่องว่างบริเวณฟันที่ถูกถอนไป ทำให้ฟันซี่ข้างเคียงล้มเอียงมาปิดช่องว่างได้
วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุ
- เมื่อฟันเบบี๋ยังไม่ขึ้น หรือขึ้นเพียง 2-3 ซี่ ควรใช้ผ้าชุบน้ำสะอาด ทำความสะอาดสันเหงือก กระพุ้งแก้ม บริเวณที่ยังไม่มีฟันขึ้น และบนตัวฟันที่ขึ้นแล้ว หลังดูดนมทุกครั้ง หรือวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน
- เมื่อเด็กฟันเริ่มขึ้นหลายซี่ พ่อแม่ควรแปรงฟันให้เด็กด้วยแปรงสีฟันสำหรับเด็กที่มีขนอ่อนนุ่ม โดยเลือกใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์แต่ควรเลือกรสชาติที่ไม่เผ็ด และใช้เวลาแปรงฟันนานครั้งละ 2 นาที
- พ่อแม่ควรแปรงฟันซ้ำในส่วนที่เด็กแปรงไม่สะอาด และใช้ไหมขัดฟันช่วยในการทำความสะอาดซอกฟัน
- ควรพาเด็กไปพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพฟัน
ทั้งนี้ เมื่อพบว่าลูกมีฟันน้ำนมผุ พ่อแม่ผู้ปกครองควรรีบพาไปพบทันตแพทย์เพื่อรักษาและรับคำแนะนำ วิธีดูแลทันตสุขภาพที่ถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุซ้ำต่อไปค่ะ