การกรน คือภาวะที่การนอนมีเสียงดังขณะหลับ โดยเสียงนั้นเกิดจากการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณด้านหลังหลอดลมส่วนบน, ลิ้นไก่ และเพดานอ่อนเนื่องจากมีการแคบลงของทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งเกิดจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อขากรรไกรล่าง ลิ้น และเพดานอ่อน ในขณะหลับทำให้ไปขัดขวางทางลมผ่านของการหายใจนอกจากนี้ความผิดปกติของโครงสร้างใบหน้า เนื้องอกในโพรงจมูก
ภูมิแพ้, ยานอนหลับ, ความอ้วน และการดื่มสุรา ล้วนเป็นสาเหตุโดยอ้อมของเสียงกรน
ซึ่งการนอนกรน มี 2 ประเภท คือ
1. นอนกรนธรรมดา (ไม่อันตรายเพราะไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย)
จะมีผลกระทบต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะกับคู่นอน ผู้ป่วยมักไม่เดือดร้อน แต่อาจมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
2. นอนกรนอันตราย (มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยเรียกว่า Sleep Apnea)
หากไม่รักษา อาจมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน ทำให้เรียนหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ถ้าต้องขับรถอาจเกิดอุบัติเหตุในท้องถนนได้นอกจากนั้นจะมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่นๆ ได้ เช่นโรคความดันโลหิตสูง, โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด, ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคความดันโลหิตในปอดสูง, โรคหลอดเลือดในสมอง
Sleep Apnea จะมีการหยุดหายใจนานอย่างน้อยที่สุด10 วินาที มากกว่า 5 ครั้ง ต่อ 1 ชั่วโมง ในขณะที่นอนหลับ ซึ่งเกิดจากมีการปิดกั้นอย่างสมบูรณ์ของทางเดินหายใจชั่วคราว ซึ่งภาวะเช่นนี้จะทำให้อ๊อกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง ทำให้ร่างกายช่วยตัวเองโดยตื่นขึ้นมาจากการหลับลึก เพื่อหายใจเป็นระยะในช่วงที่นอนหลับ
หากมีอาการดังต่อไปนี้ อาจบ่งบอกถึงการมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรรีบไปพบแพทย์
- ตื่นนอนตอนเช้าด้วยความอ่อนล้า ไม่สดชื่น หรือมีอาการปวดมึนศีรษะต้องการนอนต่ออีกเป็นประจำ มีความรู้สึกเหมือนว่าไม่ได้หลับนอนมาทั้งคืน ทั้งๆ ที่ได้นอนพักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว
- มีอาการง่วงนอนในเวลาทำงานกลางวัน จนไม่สามารถจะทำงานต่อได้ หรือมีอาการเผลอหลับในขณะทำงานหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ทั้งๆ ที่ได้นอนพักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว
- นอนหลับไม่ราบรื่น ฝันร้าย หรือละเมอขณะหลับ นอนกระสับกระส่ายมากเหงื่อออกผิดปกติขณะหลับ
- คนรอบข้างสังเกตว่ามีช่วงหยุดหายใจ (witnessed apnea) หรือหายใจไม่สม่ำเสมอ
- มีอาการหายใจขัด หรือหายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับ อาจมีอาการคล้ายสำลักน้ำลาย
- มีอาการสะดุ้งตื่น ผวา พลิกตัว หรือ หายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ