ในทศวรรษหน้า คนเอเชียจะป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ มากขึ้น อาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงโรคเบาหวาน ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลให้ระบบการดูแลสุขภาพทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิกนั้นต้องสั่นคลอน
เป็นที่คาดการณ์ว่า จะมีผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานในเอเชียเป็นจำนวนสูงถึง 350 ล้านคนภายในปี 2040 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นราว 110 ล้านคนภายในระยะเวลาเพียงแค่ประมาณ 20 ปีเท่านั้น และภายในปี 2025 ราว 80% ของการเสียชีวิตของประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชียจะเกิดจากโรคไม่ติดต่อ
ทั้งนี้ จะยังคงพบการขยายตัวของโรคควบในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ด้วยเช่นกัน2 พร้อมกันนี้ เราจะเห็นได้ว่าจำนวนประชากรผู้สูงอายุในเอเชียยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า ภายในปี 2030 เอเชียจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึงห้าเท่าเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายสำหรับผู้สูงอายุในปี 20153
สิ่งนี้จะเพิ่มความยุ่งยากให้กับระบบเศรษฐกิจและการดูแลรักษาสุขภาพของทั่วทั้งเอเชีย สำหรับในประเทศไทย แนวโน้มของจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพสูงขึ้นตามไปด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งนี่จะส่งผลกระทบให้ขนาดของเศรษฐกิจไทยภายในทศวรรษหน้าลดลงราว -4.4% อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้4
กลุ่มชนชั้นในเอเชีย
ในภาพรวม กลุ่มชนชั้นกลางในเอเชียจะยังคงเติบโตรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ 88% ของกลุ่มชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นมาใหม่จากจำนวนหนึ่งพันล้านคนทั่วโลกจะอยู่ในเอเชีย โดยส่วนมากจะอยู่ในจีนและอินเดีย ภายในปี 2030 กลุ่มชนชั้นกลางรวมจำนวนถึงสองในสามของทั่วโลกอาจจะอยู่ในเอเชีย ผลักดันให้ความต้องการด้านเฮลต์แคร์ที่มีคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น5
การสนองตอบความต้องการดังกล่าวข้างต้นนั้นเป็นเรื่องท้าทาย ในอีก 10 ปีข้างหน้า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะขาดแคลนบุคลากรด้านการดูแลรักษาสุขภาพเกือบถึง 18 ล้านคน6 ซึ่งปัญหานี้จะยิ่งแย่ลงเนื่องจากขาดระบบบริหารจัดการด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ ขาดความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และมีงบประมาณในด้านการดูแลรักษาสุขภาพที่จำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานนี้คาดว่าจะยิ่งขยายขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ ปี
พลิกโฉมหน้าวงการเฮลต์แคร์
เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ ผู้ให้บริการด้านเฮลต์แคร์และทั่วทั้งภาคอุตสาหกรรมเฮลต์แคร์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนต้นแบบธุรกิจใหม่โดยการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม เพื่อมอบการดูแลรักษาสุขภาพที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยในเรื่องนี้ หลายประเทศได้ริเริ่มดำเนินโครงการ Smart Health ไปบ้างแล้วในหลายๆ ส่วน
ความริเริ่มหลายประการภายใต้โครงการนี้มีความมุ่งหวังเพื่อที่จะย้ายงานบริการดูแลรักษาสำหรับโรคเรื้อรังจากโรงพยาบาลไปสู่ชุมชน เพื่อให้เข้าถึงและใกล้กับผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงจะเป็นการลดปัญหาความคับคั่งของผู้คนในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วยได้ดีขึ้นอีกด้วย สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีดิจิทัลและความพร้อมในเรื่องแพลตฟอร์ม ซึ่งแพลตฟอร์มที่มีใช้กันอย่างแพร่หลายก็คือ mHealth (Mobile Health) ที่ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยได้ผ่านทางสมาร์ทโฟน ซึ่งในอนาคตคาดว่า 40% ของการตรวจระหว่างแพทย์และคนไข้จะเปลี่ยนจากการต้องเห็นหน้ากันจริงๆ มาเป็นทางดิจิทัลผ่าน mHealth ทั้งนี้ รวมไปถึงการวินิจฉัยโรคแบบทางไกลด้วย7
อีกหนึ่งแนวโน้มที่น่าสนใจในเรื่องบริการดูแลรักษาสุขภาพคือ โรงพยาบาลอินเตอร์เน็ต (Internet Hospitals) ซึ่งเห็นได้ชัดในสหรัฐอเมริกาและในจีน ต้นแบบธุรกิจนี้เป็นการส่งมอบบริการด้านเฮลต์แคร์ในรูปแบบดิจิทัล ยกเว้นในกรณีที่ต้องมีการผ่าตัด หรือในกรณีฉุกเฉิน ที่คนไข้ยังคงต้องพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แนวโน้มนี้เติบโตพัฒนาไปอย่างรวดเร็วทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งในเกาหลีใต้และออสเตรเลียก็กำลังวางแผนพิจารณาใช้ต้นแบบเดียวกันนี้
อนาคตทิศทางการดูแลสุขภาพ : การแพทย์ในอุดมคติ
แม้ว่าจะมีการนำต้นแบบต่างๆ หลายตัวไปประยุกต์ใช้แล้ว แต่สภาพการณ์ของการดูแลรักษาสุขภาพนั้นมีการปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะสร้างทั้งความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้เข้าใจในเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง โรช ไดแอกโนสติกส์ เอเชียแปซิฟิก จึงได้ทำการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดในเรื่องอนาคตของทิศทางการดูแลรักษาสุขภาพในเอเชียแปซิฟิก โดยเน้นเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการวินิจฉัยภายนอกร่างกาย (in vitro diagnostics, IVD)
การศึกษานี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งภายในและภายนอกอุตสาหกรรมเฮลต์แคร์ในหลายประเทศทั่วเอเชีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจว่ารูปแบบการดูแลรักษาสุขภาพในอุดมคตินั้นควรเป็นเช่นไร ทำอย่างไรทุกคนจึงจะสามารถรับบริการได้อย่างทั่วถึง มีคุณภาพสูง ในราคาที่ไม่ไกลเกินเอื้อม การศึกษานี้ยังเจาะลึกลงไปอีกว่าสิ่งใดเป็นปัจจัยที่จะเสริมให้ผู้ป่วยสามารถเดินทางเข้าสู่ดินแดนแห่งการแพทย์ในอุดมคติ หรือ “clinical utopia” ได้อย่างราบลื่น นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาทบทวนถึงระบบการดูแลรักษาสุขภาพในเอเชีย ตลอดจนทิศทางในอีก 10 ปีข้างหน้าเพื่อก้าวเข้าสู่ clinical utopia
โจซิกา ฮาไบจานิก ผู้จัดการประจำประเทศของโรช ไดแอกโนสติกส์ ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหัวหอกของงานวิจัยชิ้นนี้เมื่อครั้งยังคงดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายพัฒนากลยุทธ์ประจำโรช ไดแอกโนสติกส์ เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “การศึกษาในเรื่อง clinical utopia นี้ทำให้เราเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีบทบาทและส่งผลกระทบต่ออนาคตของการดูแลรักษาสุขภาพ แนวโน้มใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวกำหนดทิศทางและสร้างภาพให้เห็นว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร ซึ่งเราเองก็ต้องการที่จะทำแผนที่ประกอบเพื่อเป็นแนวทางว่าถนนที่มุ่งสู่ clinical utopia นั้นเป็นอย่างไร มีผลกับเรา ลูกค้าของเรา และส่วนอื่นๆ ในภาคอุตสาหกรรมเดียวกับเราอย่างไรบ้าง”
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว ระดับความสามารถในการปรับใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์เต็มประสิทธิภาพของเราจะเป็นเครื่องกำหนดอนาคตของเราในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ ในปัจจุบัน ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น และต้องการบริการที่ดีขึ้น ซึ่งแนวโน้มนี้จะยังคงอยู่ตลอดไป ทำให้แนวคิดการพัฒนาที่ให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางนั้นกลายมาเป็นหัวใจสำคัญสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมและการส่งมอบบริการด้านเฮลต์แคร์ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ สำหรับทั้งในวันนี้และในวันหน้า
ที่มา:
- 1 Deloitte Insights / Deloitte.com/insights
- 2 WHO Global Burden of Disease 2014, Globocan 2012, IDF Diabetes Atlas
- 3 Marsh Mercer Benefits’ Medical Trend report, OECD Health Statistics 2014; WHO (2016e)
- 4 Deloitte Access Economics, World Economic Forum / Deloitte.com/insights
- 5 Brookings report
- 6 OECD Health Statistics 2014; WHO (2016e)
- 7 PwC Study