ศ.ดร. พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา หัวหน้าคณะนักวิจัย Operation BIM กล่าวว่า…
“วิทยาศาสตร์และจิตวิทยาบอกเราว่า สิ่งกระตุ้นเร้าทางเพศมีส่วนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอารมณ์ทางเพศที่เกิดขึ้นในช่วงการเข้าสู่วัยรุ่น เป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของร่างกายที่จะสืบทอดและดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ โดยมีสิ่งเร้าสำคัญใน 2 ลักษณะประกอบด้วย ลักษณะของปัจจัยที่เป็นสิ่งเร้าภายใน (intrinsic stimulus) และลักษณะของปัจจัยที่เป็นสิ่งเร้าภายนอก (extrinsic stimulus) ฟังดูเครียด แต่เปล่าเลย สิ่งเร้าเหล่านี้เคยเกิดขึ้นกับทุกๆ คนที่เป็นวัยรุ่น”
ในบทความนี้ กับช่วงเวลาเปิดเทอมของวัยว้าวุ่น แม่นุ่มอยากชวนทุกคนมาดูเรื่องราวของ “เอชไอวี” ในวัยรุ่น
ว้าวุ่นยังไงไม่ให้พลาดพลั้งไปสู่การติดเชื้อเอชไอวี
ใครยังไม่รู้จักเอชไอวีนั้นต้องทราบด่วนๆ มันอยู่กับมนุษย์มาสามสิบกว่าปีแล้ว และแพร่ไปแล้วทั่วทุกมุมถนนในโลกนี้ แม้ประเทศที่เจริญที่สุด เมืองที่มีกำแพงหนา กลุ่มคนมีอาวุธทันสมัย หรือรวยล้นฟ้า เอชไอวีก็เข้าไปถึง ถ้าขาดความเข้าใจ การป้องกัน การรู้เท่าทัน และรับมืออย่างถูกต้อง
สำหรับวัยรุ่นวัยเรียน ความพยายามในการที่จะหลีกเลี่ยงต่อสิ่งเร้าภายนอกที่มากระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศที่เพิ่มมากขึ้นนั้นเหมือนยิ่งห้ามยิ่งยุ และในเมื่อสังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนไป ก็เป็นการยากที่จะกักขังใครไว้ในเหย้าเรือน ฉะนั้นการเรียนรู้ให้เท่าทัน รู้จักป้องกัน และทำความเข้าใจ เพื่อการรับมืออย่างถูกต้องตรงจุด น่าจะเป็นมิตรที่สุดกับทุกๆฝ่าย
4 ข้อยิ้มได้… ห่างไกลเอดส์
1.รักและเคารพ ทั้งกับตัวเองและคนใกล้ชิด
การรักและเคารพตัวเองเป็นสัญชาตญาณชั้นสูงของมนุษย์ แต่การรักและเคารพคนอื่นเป็นสิ่งที่ต้องทำ เช่นเดียวกันกับการรักครอบครัว เพื่อนฝูง คนใกล้ชิด หากเราไม่ต้องการทำร้ายตัวเองอย่างไร ผู้อื่นก็ไม่ต้องการถูกทำร้ายเช่นกัน ไม่ว่าจะด้วยทางใจหรือกาย ความสัมพันธ์ทั้งทางใจและกาย จึงต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ ถ้าคิดว่าว่ารับผิดชอบไม่ได้ ก็ไม่ควรหาเรื่องใส่ตัว ฝ่ายหญิงดูชายให้นาน ฝ่ายชายก็ให้เกียรติเขา หรือแม้แต่หญิงหรือชายด้วยกัน
2.หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดโอกาสนำไปสู่เพศสัมพันธ์
ตามธรรมชาติการถูกสัมผัสในลักษณะต่างๆ กับคนที่เราปรารถนา มักก่อให้เกิดอารมณ์ทางเพศได้ เช่น การจับมือถือแขน การกอดจูบ การลูบคลำ และการเล้าโลม จากข้อหนึ่งถ้าคุณมีความรักและเคารพมาพร้อมความรับผิดชอบ คุณจะตอบสนองต่อสิ่งเหล่านี้ได้อย่างมีสำนึก แต่ถ้าคุณยังดูแลตัวเองไม่ได้ ยังเรียนหนังสือก็ควรจะเลี่ยงโอกาสความเสี่ยงเหล่านี้
3.ถุงยางอนามัย ป้องกันดีกว่าแก้ไข
เมื่อเลยเถิดมาจนถึงการเผชิญหน้ากับคู่นอน ด่านสุดท้ายของการป้องกันที่ดีที่สุดคือทั้งคู่ต้องป้องกันด้วยถุงยางอนามัย การป้องกันในที่นี้ไม่ใช่ป้องกันการมีบุตรในคู่รักหญิงชาย แต่ป้องกันการเกิดโรคติดต่อที่มากับเพศสัมพันธ์ รวมถึงเชื้อเอชไอวี ทั้งจากผู้ที่เป็นพาหะและมีเชื้อโดยสมบูรณ์แล้ว ค่านิยมการไม่ใช่ถุงยาง ปล่อยใจไปกับแรงอารมณ์ความรู้สึกให้กลับไปตั้งต้นที่ข้อ 1 ใหม่ เชื่อเถอะว่า เอชไอวี และการตั้งครรภ์ไม่ใช่ของเล่นและการดูแลร่างกายไม่ปล่อยให้ป่วยนั้นดีที่สุด
4.ความรู้ ความเข้าใจ และรู้เท่าทัน
ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ป่วยไข้เราก็ควรรู้ให้รอบเข้าใจให้ลึกถึงโรคและปัญหาที่เกิดจากโรค โดยเฉพาะในวัยว้าวุ่นที่อารมณ์พลุ่งพล่าน ตื่นตัว และไวต่อสิ่งเร้าทางเพศ และไม่ว่าตัวคุณหรือคนรอบข้างต้องเผชิญกับสถานการณ์การเจ็บป่วย คุณจะรับมือได้อย่างมีความรู้ ความเข้าใจ และเท่าทันเหตุการณ์
“เราห้ามการเจ็บป่วยไม่ได้ แต่เราเลือกไม่เดินเข้าสู่ความเสี่ยงได้ ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ฉะนั้นการดูแลร่างกายไม่ปล่อยให้ป่วยนั้นดีที่สุด เพราะโลกยังมีอะไรอีกมากรอให้คุณเรียนรู้และสัมผัสอย่างมีความหวัง”
ศ.ดร. พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา หัวหน้าคณะนักวิจัย Operation BIM ได้กล่าวสรุป