“กลุ่มอาการดาวน์” (Down Syndrome)
เป็นโรคทางพันธุกรรมไม่มียารักษา สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 ในช่วงที่เซลล์แบ่งตัวหลังจากไข่และอสุจิปฏิสนธิกัน และเพราะเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีระดับไอคิวต่ำระดับน้อยถึงปานกลาง พ่อแม่จึงต้องหมั่นกระตุ้นพัฒนาการ โดยควรเริ่มตั้งแต่วัยเบบี๋!!
ข้อมูลจาก นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ลักษณะเฉพาะของเด็กกลุ่มนี้ซึ่งเหมือนกันทั่วโลก มี 4 ประการ คือ
- เชาวน์ปัญญาต่ำ ทำให้มีปัญหาด้านพัฒนาการ เช่น พูดช้า
- มีปัญหาในการใช้กล้ามเนื้อ ตัวอ่อนปวกเปียก กล้ามเนื้อหย่อน ข้อต่อหลวม
- มีโครงสร้างทางใบหน้าที่โดดเด่นชัดเจน เช่น หน้าแบน หัวเล็ก หูเล็ก หูบิดผิดรูปร่าง ปากเล็ก ตาเรียว หางตาเฉียงขึ้น มีจุดสีขาวอยู่ที่ตาดำ คอสั้น แขนขาสั้น ตัวเตี้ยกว่าคนในวัยเดียวกันเมื่อโตขึ้น
- มีปัญหาสุขภาพตั้งแต่กำเนิดหลายเรื่อง เช่น ผนังหัวใจผิดปกติ มีปัญหาการมองเห็น ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ หากไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือโดยเร็วและเหมาะสม จะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่รุนแรงและซับซ้อน ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงดูและการใช้ชีวิตของเด็กในระยะยาว
เด็กกลุ่มอาการดาวน์ส่วนใหญ่ร้อยละ 85 มีระดับไอคิวต่ำระดับน้อยถึงปานกลางอยู่ที่ 50-70 จุด ระดับไอคิวยิ่งต่ำเท่าใดพัฒนาการจะล่าช้ามากขึ้น หัวใจหลักของการดูแลจะเน้นที่การส่งเสริมพัฒนาการเพื่อให้เด็กช่วยเหลือตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
แม้เด็กกลุ่มนี้จะมีความพิเศษต่างจากเด็กทั่วไป แต่ก็สามารถมีพัฒนาการดีขึ้นได้ หากพ่อแม่กระตุ้นตั้งแต่ภายในขวบปีแรกและต่อเนื่องจนถึงอายุ 5 ขวบ และจะช่วยลดความรุนแรงของพัฒนาการและระดับไอคิวได้ เด็กบางคนสามารถเรียนหนังสือจนถึงระดับปริญญาตรี มีอาชีพและรายได้แบ่งเบาภาระพ่อแม่ได้
เด็กกลุ่มอาการดาวน์จะมีพัฒนาการเป็นขั้นตอนเช่นเดี่ยวกับเด็กทั่วไปแต่จะช้ากว่าเด็กปกติทั่วไปประมาณ 2 ปี โดยเด็กจะเริ่มเดินได้อายุประมาณ 2 ขวบ เริ่มพูดที่อายุประมาณ 2 ขวบถึง 2 ขวบครึ่ง สามารถควบคุมการขับถ่ายที่อายุ 2 ปี 10 เดือน อย่างไรก็ตาม เด็กดาวน์สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ผ่านการศึกษาและการดูแลที่เหมาะสม
ทั้งนี้ พ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในกลุ่มอาการดาวน์ไม่ควรกล่าวโทษกัน แต่ควรให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็ก จะทำให้เด็กมีความเชื่อมั่น จะส่งผลต่อพัฒนาการที่ดีค่ะ