ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน หรือร้อยละ 2.5 ของประชากรไทย และยังพบว่าผู้หญิงเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชายถึง 1.7 เท่า
ในบทความเรื่อง สำรวจคนใกล้ตัวด้วย 9 สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความรู้เรื่องสัญญาณบอกเหตุของโรคซึมเศร้า ว่าจะมีลักษณะ ดังนี้
- ซึมเศร้า หงุดหงิด ก้าวร้าว
- ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง
- ไม่มีสมาธิ
- อ่อนเพลีย
- เชื่องช้า
- รับประทานอาหารมากขึ้น หรือน้อยลง
- นอนมากขึ้น หรือน้อยลง
- ตำหนิตัวเอง
- พยายามฆ่าตัวตาย
แต่เรามาลองเพิ่มวิธีสังเกตคนใกล้ตัวแบบลงลึกในพฤตกรรมที่เจอในประจำวันอื่นๆ ที่อาจบอกได้ว่า คนใกล้ตัวของเพื่อนๆ เหล่านี้ อาจกำลังประสบกับปัญหาโรคซึมเศร้าอยู่ก็ได้
1.นัดไม่เป็นนัด
บางครั้งพวกเขาอาจตกปากรับคำว่าจะไปทำนั่นนี่กับคุณ แต่ผลปรากฏว่าเมื่อถึงเวลานัดกลับขอเบี้ยวกันแบบดื้อๆ บ้างอาจให้เหตุผลจริงๆ ว่าพวกเขาไม่อยากไปแล้ว หรืออาจพูดเลี่ยงด้วยเหตุผลอื่น
2.นอนไม่เป็นเวลา
พวกเขามักมีอาการนอนไม่หลับ ทำให้ระหว่างที่ทำงานอยู่ เพื่อนๆ อาจเห็นเขางีบหลับเป็นประจำ ทั้งดูอ่อนเพลียมากกว่าปกติ มีความเครียดสูง
3.เป็นไปได้ว่าชอบทำงานให้ไม่เสร็จ
ผลกระทบจากการไม่มีสมาธิ ทำอะไรเชื่องช้ามากขึ้น หรือแม้แต่ความรู้สึกอ่อนเพลียนั้นส่งผลกระทบกับการทำงานทั้งสิ้น และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกขาดแรงจูงใจในการทำงาน บางทีก็อาจพบว่าพวกเขาชอบทิ้งงานไปเลย ทิ้งไว้กลางทางแบบไม่มีสาเหตุ และชอบลางานบ่อยๆ
4.ไม่ชอบปาร์ตี้
เพราะความรู้สึกที่ไม่อยากสนใจสิ่งรอบข้าง หมดแรงกระตุ้นในการทำสิ่งต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยไม่ชอบไปปาร์ตี้หรือว่าสังสรรค์กับเพื่อนๆ
และนี่คือพฤติกรรมที่เราอาจคิดไม่ถึงว่า คนใกล้ตัวของเรา อาจกำลังเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาโรคซึมเศร้านั้น ความเข้าใจของคนรอบข้าง ครอบครัวและสังคมเป็นสิ่งสำคัญ หากทุกฝ่ายให้ความสำคัญและร่วมมือกันก็จะช่วยลดปัญหาอันเกิดจากโรคดังกล่าวลงได้