“อีทีโซแลม” ยานอนหลับชนิดใหม่ อันตรายถึงตาย!

0

นับเป็นหนึ่งในภัยร้ายที่ต้องเฝ้าระวังทีเดียวค่ะ สำหรับข่าวการตรวจพบยานอนหลับชนิดใหม่ “อีทีโซแลม” ครั้งแรกในไทย แพร่ระบาดจังหวัดชายแดนใต้ เรียกว่าเป็นยาที่อันตรายมากๆ โดยออกฤทธิ์แรงกว่าไดอาซีแพม (ยานอนหลับชนิดหนึ่ง) ถึง 10 เท่า หากใช้ยามากกว่า 1 เดือน จะกดระบบหายใจทำให้เสียชีวิตได้

เมื่อช่วง ก.ย.-ต.ค. 2560 สำนักยาและวัตถุเสพติด และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ได้ร่วมกันตรวจวิเคราะห์ของกลางที่ส่งตรวจจากสถานีตำรวจภูธร 7 แห่งในเขต จ.นราธิวาสและยะลารวม 10 ตัวอย่าง มีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนสีส้ม ด้านหนึ่งมีตัวพิมพ์ 5 ส่วนอีกด้านเป็นสัญลักษณ์ 4 แฉกพร้อมตัวพิมพ์ 028 บรรจุในแผงอลูมิเนียมสีเงินพลาสติกใสสีแดงแผงละ 10 เม็ด ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ พบว่า เป็นยาอีทิโซแลม ซึ่งเป็นยานอนหลับชนิดใหม่ที่เพิ่งตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย

etizolam

ข้อมูลจาก นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า

ยาอีทิโซแลม (Etizolam) มีสูตรโครงสร้างทางเคมีและการออกฤทธิ์คล้ายกับยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอาซีปีนส์ ซึ่งดูดซึมได้ดีผ่านระบบทางเดินอาหาร มีฤทธิ์ทำให้ง่วงมากกว่ายานอนหลับไดอาซีแพม (Diazepam) ถึง 10 เท่า ให้ระดับยาในเลือดสูงสุดภายในเวลา 0.5-2 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ได้นาน 6-8 ชั่วโมง เป็นยากลุ่มกดประสาทที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางมีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม

ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อิตาลี และ อินเดีย อนุญาตให้ใช้เป็นยาในรูปแบบยาเม็ดขนาดความแรงต่างๆ กันสำหรับรักษาโรควิตกกังวลที่มีภาวะซึมเศร้าและอาการนอนไม่หลับ แต่มีอาการไม่พึงประสงค์และอาการข้างเคียง เช่น ทำให้ง่วงซึมระหว่างวัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดจาเลอะเลือน เดินเซ ง่วงนอน อาจมีอาการกล้ามเนื้อรอบดวงตาหดเกร็งตัวใน และทำให้ลืมสิ่งที่เกิดขึ้น

ผู้ป่วยที่ใช้ยามากกว่า 1 เดือนจะกดระบบหายใจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังทำให้เสพติดและมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดใช้ทดแทนยาอี (Ecstasy) สำหรับในประเทศไทย ยาดังกล่าวไม่มีจำหน่ายหรือไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนในประเทศจึงยังไม่ถูกควบคุมหรือประกาศให้เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แต่ในหลายๆ ประเทศได้ตระหนักถึงอันตรายและแนวโน้มการนำไปใช้ในทางที่ผิดของยาชนิดนี้ จึงกำหนดให้เป็นสารที่ต้องควบคุมตามกฎหมาย เช่น ประเทศ เดนมาร์ก เยอรมนี สหรัฐอเมริกาในบางรัฐ

ยาชนิดนี้ไม่ละลายน้ำ จะละลายเฉพาะในแอลกอฮอล์ ฉะนั้น หากจะป้องกันตัวเองจากยาชนิดนี้ ก็ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่บุคคลอื่นหยิบยื่นให้ โดยเฉพาะในสถานบันเทิงค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *