“สุรา” เป็นสารเสพติดที่เมื่อดื่มแล้วจะทำให้เกิดผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยผลร้ายอันมีสาเหตุจากการดื่มสุรานั้นอาจมีตั้งแต่ขั้นเบา ไปจนถึงขั้นรุนแรงถึงแก่ชีวิต ไม่อยากเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการดื่มสุรา ทุกคนในสังคมก็ต้องร่วมมือกัน เริ่มจากหน่วยเล็กๆ อย่างครอบครัวก่อนค่ะ
5 กลุ่มคนที่ไม่ควรดื่มสุราเด็ดขาด
- เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี
- หญิงตั้งครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร
- ผู้มีอาชีพขับรถและทำงานกับเครื่องจักรกล
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ตับ ไต หัวใจ ปอด สมอง โรคทางจิต ฯลฯ
- ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ดื่มอยู่แล้ว ควรงดดื่มต่อไปและไม่ควรริเริ่มดื่ม เพราะองค์การอนามัยโลกไม่รับรองว่า ดื่มน้อยขนาดใดที่จะปลอดภัยต่อสุขภาพ และอย่าเชื่อข้อมูลผิดๆ ว่า แอลกอฮอล์ดีต่อสุขภาพ
ข้อมูลจาก ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผอ.ศวส. ระบุว่า…
สมองเด็กและเยาวชนยังเจริญเติบโต มีการพัฒนาได้จนอายุ 25 – 30 ปี การปกป้องสมองให้ได้รับอันตรายน้อยที่สุดจากสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้สมองได้พัฒนาตามธรรมชาติอย่างเต็มที่ แต่การดื่มทำให้การตัดสินใจต่างๆ แย่ลง ขาดความยับยั้งชั่งใจ และการดื่มของเด็กและเยาวชนตั้งแต่อายุน้อยยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดแอลกอฮอล์ การบาดเจ็บ และการตายก่อนวัยอันควร
ด้าน ศ.นพ.สารเนตร์ ไวคกุล นายกแพทยสมาคม กล่าวว่า หลังการดื่มระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะขึ้นสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 45 นาที และจะค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ ซึ่งอาจจะใช้เวลานานถึง 6 ชั่วโมง จึงจะกำจัดออกหมดจากร่างกาย ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่ความเข้มข้นประมาณ 50 – 99 mg% จะทำให้ความคิดและการตัดสินใจเสียหาย ส่งผลต่อระบบประสาท การนึกคิด การตัดสินใจ การประสานประสาทและกล้ามเนื้อ เสียสมาธิ ทำให้ควบคุมยานพาหนะหรือเครื่องจักรเครื่องยนต์ไม่ได้ จึงเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ เสียชีวิต
นอกจากนั้น แอลกอฮอล์ยังเป็นพิษต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย การดื่มปริมาณมากต่อครั้งหรือการดื่มหนักเพิ่มความเสี่ยงทั้งร่างกายและจิตใจ โรคภัยต่างๆ เช่น ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือด ไขมันสะสมในเนื้อตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง หลอดเลือดสมองตีบ มะเร็งในระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ที่ติดเหล้ายังเพิ่มความเสี่ยงฆ่าตัวตาย โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ ทำให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เจ็บป่วยหนักขึ้น รู้อย่างนี้แล้วก็อย่าริลอง หรือรีบลด ละ เลิก ก่อนจะสุขภาพพังนะคะ